top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

Sight Translation การแปลล่ามจากเอกสาร

Updated: Nov 14, 2020


Sight translation โดยความหมายแท้จริงของมันคือการอ่านเอกสารในภาษาต้นทางและพูดคำแปลออกมาเป็นภาษาปลายทาง มีการใช้งานในหลายบริบท เช่นในการแปลแบบล่ามชุมชนเมื่อไปติดต่อหน่วยงานแล้วต้องมีการลงนามในเอกสารแต่ผู้ลงนามไม่สามารถอ่านข้อความในเอกสารได้รู้เรื่องล่ามจะแปลข้อความในเอกสารให้ฟังก่อนเพื่อให้ผู้ลงนามเข้าใจว่าตนลงนามในเอกสารอะไร แต่สำหรับในบริบทของล่ามการประชุมแบบพูดพร้อม sight translation คือการแปลแบบล่ามพูดพร้อมโดยอ่านเอกสารที่เป็นคำพูดของผู้พูดประกอบไปด้วย มักใช้ในกรณีกล่าวสุนทรพจน์ที่มีการเขียนไว้ล่วงหน้า บางครั้งใช้ในการนำเสนอบทความ หรือบางครั้งเป็นการนำเสนอที่ผู้พูดเตรียมบทมาอ่าน


ผู้เรียนวิชาการแปลแบบล่ามมักคิดว่า sight translation เป็นการแปลที่ง่ายเพราะมีเอกสารให้ดู หากเกิดปัญหาในการฟังก็ยังสามารถอ่านเอกสารตามได้ แต่ในความเป็นจริงวิธีอ่านเอกสารเพื่อแปลแบบ sight translation ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมถูกจำกัดด้วยเวลาและความเร็วที่ผู้พูดใช้ในการพูดต้นฉบับ (หรือในการอ่านออกเสียงจากเอกสารของเขา) เราจึงไม่สามารถใช้วิธีอ่านแบบเดียวกันกับเวลาที่เราอ่านในสถานการณ์ทั่วไปได้ พูดง่ายๆคือเราไม่สามารถอ่านได้ทุกคำที่ปรากฎในเอกสาร ผู้เรียนส่วนใหญ่ถูกสอนมาในจารีตที่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาความหมายของคำแบบแยกออกจากบริบท เช่นที่เราถูกสอนให้ท่องคำศัพท์ในสมัยเด็กๆ เราจึงเกิดความเคยชินที่จะเริ่มวิเคราะห์ความหมายจากระดับคำโดยพิจารณาความหมายของคำแต่ละคำที่ปรากฎในต้นฉบับแล้วจึงค่อยมองบริบทแวดล้อมเพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วม เราสามารถใช้วิธีการนี้ได้เมื่อแปลเอกสาร เป็นวิธีที่จะทำให้เกิดความถี่ถ้วนในการแปล แต่ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมภาระทางปัญญาที่ล่ามต้องแบกรับในหนึ่งช่วงเวลานั้นหนักอยู่แล้วเพราะต้องทั้งฟัง คิด และพูด ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีเอกสารมาเพิ่มจึงเป็นการเพิ่มภาระทางสมองให้ล่ามต้องทำหน้าที่ถึง 4 อย่างในเวลาเดียวกัน คือฟัง อ่าน คิด พูด หากบริหารจัดการหน้าที่ทั้ง 4 ได้ไม่สมดุลจะทำให้เกิดปัญหาในการแปลได้


การบริหารจัดการหน้าที่ทั้ง 4 ให้สมดุลมิได้หมายความว่าให้เฉลี่ยสมาธิให้กับการทำหน้าที่แต่ละอย่างในปริมาณเท่ากัน แต่หมายถึงการแบ่งสมาธิให้กับหน้าที่แต่ละอย่างตามลำดับความสำคัญ เมื่อพิจารณาธรรมชาติการทำงานของล่ามพูดพร้อมจะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฟังเพราะหากไม่ฟังจะไม่มีเนื้อความให้แปล บางคนอาจแย้งว่าหากมีเอกสารให้อ่านเราอาจไม่จำเป็นต้องฟังก็ได้เพราะเราสามารถอ่านเนื้อความจากเอกสารแล้วพูดคำแปลไปตามนั้นได้ ซึ่งก็จริงในบางส่วนแต่ผู้ที่ทำเช่นนั้นมักแปลไม่ทันเพราะใช้เวลาตีความนานไป หากเปรียบเป็นการแข่งความเร็วกันระหว่างล่ามกับผู้พูดจะเห็นว่าล่ามเสียเปรียบอย่างมากเพราะผู้พูดแค่ดูว่าคำที่ปรากฎในเอกสารอ่านออกเสียงว่าอย่างไรแล้วอ่านไปตามนั้น ไม่จำเป็นต้องคิดถึงความหมายหรือตีความใดๆทั้งสิ้น แต่ล่ามต้องพิจารณาความหมายของคำประกอบกับบริบทและข้อมูลอื่นเพื่อหาความหมายก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาปลายทาง จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่าล่ามจะแปลไม่ทัน


ในกรณีที่มีเวลาเตรียมตัวกับเอกสารน้อย (เพราะเพิ่งได้เอกสารมาสิบนาทีก่อนงานเริ่ม) หากต้องการจะแปลให้ทันล่ามไม่สามารถอ่านและวิเคราะห์ความหมายของคำทุกคำในต้นฉบับได้ ขอให้นึกถึงเมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีต้นๆทุกคนน่าจะได้เรียนวิชา reading comprehension และเทคนิคการ skim กับ scan เราอาจนำเทคนิคเหล่านั้นมาใช้ได้ในกรณีนี้ เมื่อได้เอกสารมาสิ่งแรกที่ควรทำคือกวาดตามอง (ไม่อ่าน) เอกสารนั้นก่อนว่ามีสิ่งใดโดดเด้งออกมาหรือไม่ เช่นตัวเลข ศัพท์เทคนิค หรือชื่อเฉพาะ ตัวเลขเป็นเนื้อหาที่แปลยากผิดง่ายจึงควรเขียนคำอ่านกำกับไว้ หากเป็นปีพุทธศักราชที่ต้องแปลงเป็นคริสตศักราชก็ควรเขียนกำกับไว้เลย เช่นเดียวกับศัพท์เทคนิคและชื่่อเฉพาะต่างๆ และควรเลือกอ่านเฉพาะบางส่วนในเอกสารที่มีความสำคัญเช่นอ่านหัวข้อ อ่านคำที่เป็นตัวหนาและตัวเอน วิธีการนี้จะทำให้ทราบเค้าโครงเนื้อหาได้ในเวลาจำกัด เค้าโครงมีความสำคัญมากเพราะจะเป็นเสมือนแผนที่ซึ่งกำหนดทิศทางในการแปลของเรา


สิ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในการเรียนแปลแบบล่ามคือเราควรจะสอนวิชา sight translation ในช่วงต้นหลักสูตรเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เปลี่ยนผ่านจากการแปลเอกสารมาสู่การแปลแบบล่ามได้อย่างราบรื่นขึ้นหรือไม่ เพราะผู้เรียนบางคนอาจรู้สึกอุ่นใจที่อย่างน้อยเวลาแปลก็มีเอกสารให้ดูในช่วงต้น แล้วค่อยๆให้เขาเลิกใช้เอกสารไปทีละนิดเมื่อเขาได้พัฒนาทักษะในการแปลแบบล่ามแล้ว หรือควรจะสอนในช่วงท้ายหลักสูตรเพราะการแปลแบบ sight translation เป็นการแปลที่ทำให้เกิดภาระทางปัญญาสูงสุด ผู้เรียนควรมีความชำนาญในทักษะอื่นๆเสียก่อนจึงจะสามารถใช้งาน sight translation ได้อย่างเหมาะสม ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าควรสอนทั้งในช่วงต้นและช่วงปลายหลักสูตร โดยในช่วงต้นหลักสูตรควรสอน sight translation ที่เป็นการแปลในบริบทของล่ามชุมชนซึ่งจะเป็นการแปลแบบพูดตาม ในช่วงนี้อาจสอนทักษะในการอ่านและตีความเพื่อให้สามารถอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรสอน sight translation อีกครั้งในช่วงท้ายหลักสูตรโดยเป็น sight translation แบบประกอบการแปลแบบล่ามพูดพร้อม ซึ่งนอกจากจะทบทวนทักษะการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังอาจสอนทักษะการบริหารจัดการภาระทางปัญญาเมื่อต้องใช้ sight translation ด้วย


ปัญหาหลักที่พบในการสอน sight translation คือผู้เรียนอ่านไม่ทันต้นฉบับพูด ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการฝึกทักษะการอ่านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กับเมื่อมีเอกสารให้อ่านประกอบผู้เรียนมักให้ความสำคัญกับการอ่านมากเกินไปจนบางครั้งไม่ได้ฟังว่าผู้พูดพูดอะไรเลย ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการภาระทางปัญญาให้สมดุล เพราะถึงแม้จะเป็นสุนทรพจน์ที่เขียนล่วงหน้าเพื่อนำมาอ่านแต่เราก็ไม่มีทางทราบได้เลยว่าผู้พูดจะพูดตามที่เขียนมาหรือไม่ ผู้พูดบางคนชอบเสริมความ บางคนเปลี่ยนลำดับย่อหน้า บางคนอ่านข้ามเนื้อความบางส่วน หากล่ามใจจดจ่ออยู่กับการอ่านเอกสารอย่างเดียวอาจทำให้แปลพลาดได้


การแปลแบบล่ามจากเอกสารเป็นทักษะที่มีประโยชน์และต้องมีการฝึกฝนต่อยอดจากการฝึกทักษะการอ่านทั่วไปและทักษะการแปลแบบล่ามพูดตามและการแปลแบบล่ามพูดพร้อม แม้การแปลเอกสารกับการแปลแบบล่ามจะใช้หลักการถ่ายทอดความหมายเหมือนกันแต่เราไม่ควรนำวิธีการแปลเอกสารมาใช้ในการแปลแบบ sight translation เพราะการแปลทั้งสองอย่างมีบริบทที่ต่างกันมาก


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

459 views1 comment
bottom of page