top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

Domestication and Foreignization in Translation

Updated: Nov 14, 2020

#การแปล #กลิ่นนมเนย


หากเรามองการแปลเป็นการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมเราอาจต้องยอมรับว่าไม่สามารถแปลเนื้อหาบางอย่างได้เนื่องจากสิ่งนั้นไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมปลายทางจึงไม่มีคำมาใช้เรียกขาน นักแปลจะทราบดีว่าการหาคู่คำในภาษาปลายทางที่จะมีความหมายทับซ้อนคำในภาษาต้นทางแบบ 100% นั้นบางครั้งเป็นไปไม่ได้ และเราไม่จำเป็นต้องแปลคำหนึ่งคำในต้นทางด้วยคำหนึ่งคำในภาษาปลายทางเสมอไป การแปลเป็นการถ่ายทอดความหมายซึ่งขับเคลื่อนโดยการตัดสินใจของนักแปลที่ต้องเลือกคำและโครงสร้างมาประกอบขึ้นเป็นภาษาปลายทาง โดยต่อรองระหว่างรูปภาษาและความหมายอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาสมดุล


วิชาแปลปัจจุบันมักไม่สอนเพียงว่าสิ่งนั้นแปลว่าสิ่งนี้เพราะข้อมูลในลักษณะนั้นเราสามารถหาได้ทั่วไปทางอินเตอร์เน็ต แต่จะสอนหลักคิดที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกคำและโครงสร้างเพื่อถ่ายทอดความหมายด้วย ในกรณีการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่ในต้นฉบับปรากฏคำซึ่งระบุถึงสิ่งของ อาการ หรือความคิดที่ไม่มีอยู่ในภาษาปลายทาง หลักคิดที่อาจนำมาประกอบการตัดสินใจคือการนำสิ่งนั้นมาเทียบเคียงกับสิ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุดและมีอยู่ในวัฒนธรรมปลายทาง (domestication) เช่นชื่ออาหารหลายอย่างที่ไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมปลายทางก็เทียบเคียงเอา ให้ใกล้เคียงที่สุด เราจึงพบว่ามีการแปล สังขยาว่า custard หรือ Thai custard ข้อดีของวิธีการแปลนี้คือทำให้เข้าใจง่ายเพราะผู้อ่านคำแปลน่าจะได้เคยมีประสบการณ์กับคำที่เลือกมาเป็นคำแปลในภาษาปลายทางแล้ว ข้อเสียคือไม่สามารถถ่ายทอดความหมายได้โดยสมบูรณ์ เพราะเราทราบกันดีว่าสังขยากับ custard นั้นมีความต่างกันอยู่มาก จึงมีความคิดในอีกขั้วให้แปลแบบอธิบายความ โดยแปล สังขยา ว่าเป็น a thai steamed dessert of sugar, coconut milk, and eggs ซึ่งก็ยาวและรุงรังมาก แล้วเราจะทำอย่างไรให้ได้คำแปลที่สั้นกระชับเล่า มีผู้เสนอว่าให้ทับศัพท์ไปเลย (foreignization) เพราะในการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเราก็ใช้วิธีการนี้อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ปัญหาของการทับศัพท์คือแม้คำทับศัพท์ที่เราใช้จะสามารถสื่อความหมายของต้นฉบับได้อย่างสมบูรณ์ แต่หากคนอ่านไม่รู้ว่ามันคืออะไรมันก็ไม่มีประโยชน์ เช่นหากเราไม่เคยเห็นหรือกินพิซซ่าทาก่อนเลยในชีวิต เมื่อเพื่อนชวนให้เราไปกินพิซซ่าเราก็ไม่สามารถจินตนาการหรือเจ้าใจได้ว่าอาหารชนิดนั้นมีลักษณะอย่างไร กรณีของสังขยาก็เช่นเดียวกันว่าหากแปลทับศัพท์ไปผู้อ่านที่จะเข้าใจคือผู้อ่านที่รู้จักสังขยามาก่อนแล้วเท่านั้น การจะเลือกแปลแบบไหนคงต้องขึ้นอยู่กับส่าแปลให้ใครอ่านในบริบทไหนด้วย คงไม่มีวิธีการใดเป็นวิธีการที่ถูกต้องโดยสุทธิในทุกกรณี




ตัวอย่างที่กล่าวมาคงทำให้เห็นได้ว่าการแปลเป็นศิลปะจริงๆ ส่วนที่เป็นศาสตร์คือการรักษาความหมายของฉบับแปลให้เหมือนความหมายของต้นฉบับ ส่วนวิธีการนั้นเป็นเรื่องของการตัดสินใจ ต่อรอง(กับตัวเอง) เพื่อประดิษฐ์รูปธรรมภาษาถ่ายทอดความหมายนั้นออกมา ผู้เรียนวิชาแปลมักถามว่าอันไหนเป็นคำแปลที่ถูกต้อง คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ผู้สอนอาจตอบได้เพียงว่าคำแปลไหนมีความหมายตรงกับต้นฉบับที่สุด แต่คำแปลที่มีความหมายตรงที่สุดอาจไม่ได้สื่อสารด้วยภาษาที่สวยงามที่สุด และคำแปลที่ใช้ภาษาได้สวยงามที่สุดอาจไม่ใช่คำแปลที่ซื่อตรงที่สุดก็ได้


Translation is like a woman. If it is beautiful, it is not faithful. If it is faithful, it is most certainly not beautiful.


Yevgeny Yevtushenko



 


เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

 

994 views0 comments
bottom of page