Sasee Chanprapun

Jan 1, 20201 min

ความจำและการจดบันทึกในการแปลแบบล่ามพูดตาม

Updated: Nov 14, 2020

Memory and Note Taking in Consecutive Interpreting

#การแปลแบบล่าม #ความจำ

ในกระบวนการแปลแบบล่ามที่ล่ามรับฟังต้นฉบับจากผู้พูดและนำต้นฉบับนั้นมาตีความเพื่อถ่ายทอดต่อในภาษาปลายทางนั้น ความจำมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นที่เก็บกักข้อมูลชั่วคราวเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการในการถอดความหมายหรือในการถ่ายทอดความหมายต่อไปในอีกภาษาหนึ่ง โชคดีที่

ในการแปลแบบพูดตามล่ามสามารถจดบันทึกเพื่อช่วยความจำ แต่บันทึกที่จดเพื่อการนี้มีลักษณะไม่เหมือนบันทึกข้อความทั่วไปเพราะมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่าง เรามีแหล่งกักเก็บข้อมูลอยู่สองแหล่งด้วยกันคือแหล่งภายในและภายนอก แหล่งเก็บข้อมูลภายในคือความจำของเราซึ่งเป็นแหล่งเก็บข้อมูลหลัก และแหล่งเก็บข้อมูลภายนอกคือการจดบันทึกที่เราควรใช้เป็นแหล่งเสริม แหล่งเก็บข้อมูลทั้งสองแหล่งนี้ควรใช้ควบคู่กันไปให้ประสานสอดคล้อง ในตอนเริ่มเรียนวิชาล่ามผู้เรียนส่วนใหญ่มักทุ่มเททรัพยากรสมองกับการจดบันทึกมากเกินไป ทำให้ไม่มีทรัพยากรเหลือสำหรับหน้าที่ซึ่งสำคัญกว่านั่นคือการฟังและการตีความ หากพิจารณากันอย่างจริงจังแล้วเราจะทราบว่าการจดบันทึกมีความสำคัญน้อยสุดในหน้าที่ทั้งสามอย่างนี้ หากเราไม่จดบันทึก (ใช้แหล่งเก็บข้อมูลภายนอก) เรายังอาจใช้แหล่งข้อมูลภายในของเรา (ความจำ) ได้ แต่หากเราไม่ฟังข้อความช่วงต่อไปเพราะมัวแต่จดบันทึกข้อความช่วงก่อน เราจะไม่มีข้อมูลเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการ และหากเรามัวแต่จดบันทึกจนไม่เหลือทรัพยากรสมองสำหรับการคิดวิเคราะห์เพื่อตีความให้ได้ความหมาย เราก็จะไม่มีเนื้อความไปถ่ายทอดเป็นคำแปล

แม้การจดบันทึกอาจเป็นตัวฉุดอยู่บ้างในระยะแรกของการฝึกหัดเป็นล่าม แต่หากเราสามารถจดบันทึกได้ในลักษณะที่เหมาะสมการจดบันทึกจะช่วยให้สามารถแปลได้ดีขึ้นเพราะเป็นการบรรเทาภาระทางปัญญาของสมองที่ต้องจำข้อมูลจำนวนมาก ในระยะแรกผู้เรียนมักพยายามจดทุกคำพูดที่ผู้พูดพูดในลักษณะคล้ายที่จด dictation ในห้องเรียนภาษาต่างประเทศ นอกจากจดทุกคำแล้วผู้เรียนมักพะวงกับตัวสะกดและเครื่องหมายวรรคตอนทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความสำคัญในการแปลแบบล่ามเลย สิ่งแรกที่ผู้เรียนควรทำคือปรับความคิดใหม่และทิ้งความเคยชินเก่าๆไปเสีย เมื่อได้ฟังข้อมูลจากผู้พูดจงอย่าจดทุกคำพูดแต่ให้ตีความจนได้ความหมายก่อนแล้วค่อยจด ผู้เรียนหลายคนคิดว่าถึงจะยังฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไรถ้าพอฟังออกว่าเป็นคำอะไรก็ให้จดคำนั้นไว้ก่อนแล้วค่อยมาคิดทีหลังว่าความหมายของเนื้อความคืออะไร การทำเช่นนี้นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้วยังก่อให้เกิดผลเสียเพราะการจดในสิ่งที่เราไม่เข้าใจเป็นการใช้ทรัพยากรสมองไปอย่างเสียเปล่า เราจะไม่สามารถนำสิ่งที่เราจดไว้ไปใช้ได้เพราะเราไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรตั้งแต่แรกแล้ว เราสามารถคิดค้นระบบสัญลักษณ์และตัวย่อของเราเองขึ้นมาใช้ในการจด วัตถุประสงค์คือเพื่อให้จดได้เร็วและคล่อง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเรียนระบบการจดที่เป็นระบบกลางหรือระบบสากล (เช่นชวเลขหรือรหัสต่างๆ) เนื่องจากเราไม่ได้ใช้ระบบนี้ร่วมกับใคร เราเป็นผู้ใช้งานคนเดียวดังนั้นเราจึงสามารถจดอย่างไรก็ได้ที่รวดเร็วและสื่อความได้อย่างมีประสิทธิผลสำหรับตัวเรา

ในโลกตะวันตกมีการสอนให้จดข้อความเฉียงลงจากซ้ายไปขวาแบบ SVO โดยให้ระบุ subj. - v. - obj. เป็นสามจุด และเขียนคำขยายหรือข้อมูลเสริมอื่นๆในพื้นที่ระหว่างสามจุดนี้เพื่อเป็นการแสดงภาพความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั้งหมดที่ล่ามจะมองเห็นได้โดยง่ายและถ่ายทอดได้ทันท่วงที (เช่นในภาพเป็นตัวอย่างการจดข้อความ The Prime Minister dislikes reporters because they ask many questions.) โดยอาจใช้ทั้งภาษาต้นทางและภาษาปลายทางในการจดแล้วแต่ว่านึกคำในภาษาไหนได้ก่อน หากจดเป็นภาษาปลายทางจะเป็นการช่วยลดภาระทางปัญญาในขณะพูดคำแปลเนื่องจากมีการเตรียมคำไว้แล้วแต่อาจเพิ่มภาระทางปัญญาในขณะจดเพราะนอกจากต้องฟัง คิดตีความ และจดแล้วยังต้องคิดต่ออีกด้วยว่าจะใช้คำอะไรแปลในภาษาปลายทาง หากจดเป็นภาษาต้นทางจะมีความสะดวกขึ้นในการจดแต่ไปเพิ่มภาระทางปัญญาในตอนพูดคำแปล ส่วนมากล่ามมักจดโดยใช้ทั้งภาษาต้นทาง ภาษาปลายทาง และสัญลักษณ์ปนกัน นอกจากนั้นยังมีการขีดโยงข้อความเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย เมื่อจบเนื้อความแต่ละส่วนแล้วให้ขีดเส้นแนวนอนแบ่งกระดาษออกเป็นช่อง ก่อนที่จะจดเนื้อความในส่วนต่อไปโดยทางมุมซ้ายบนให้จดความสัมพันธ์ของข้อความในช่องก่อนหน้ากับข้อความในช่องที่ตามหลังมา เช่นเป็นเหตุเป็นผลกัน หรือขัดแย้งกัน ฯลฯ การจดแบบนี้สามารถใช้ได้ดีสำหรับภาษาตะวันตกที่มีโครงสร้างประธาน กริยา และกรรมของประโยคชัดเจน เมื่อล่ามจะพูดคำแปลจะสามารถใช้บันทึกที่จดไว้เป็นแนวทาง (guide) ได้ และเมื่อพูดคำแปลในช่องใดเสร็จแล้วควรขีดฆ่าออกเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าได้พูดไปแล้ว เป็นการป้องกันความสับสนขณะพูดคำแปลในช่องต่อไป ควรใช้สมุดจดที่มีลวดร้อยด้านบน เมื่อพูดเนื้อความในหน้าใดจบจะสามารถเปิดไปหน้าต่อไปได้โดยง่าย และควรเขียนบนสมุดด้านเดียวเท่านั้นเพื่อความสะดวกในการที่จะไม่ต้องพลิกสมุดกลับไปมาในมือขณะพูดคำแปล ทั้งนี้เมื่อใช้สมุดจนถึงหน้าสุดท้ายแล้วสามารถพลิกอีกด้านกลับมาใช้ได้ในลักษณะเขียนบนหน้าเดียวเช่นกันจนหมดเล่มสมุดก็จะเป็นการใช้กระดาษทั้งสองด้านอย่างคุ้มค่าและมีความสะดวกคล่องตัวในการใช้งานด้วย

ล่ามบางคนอาจพบว่าการจดบันทึกแบบ SVO ไม่เหมาะกับคู่ภาษาที่ตนใช้งานอยู่หรือไม่ถูกกับจริตของตน ก็อาจพัฒนาวิธีการจดบันทึกแบบอื่นที่มีประสิทธิผลขึ้นมาได้ เช่นการจดในลักษณะที่เป็นผังความคิด (mind map) ทั้งนี้วัตถุประสงค์คือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยจำและเป็นโครงสร้างในการเสนอคำแปล ไม่มีวิธีการใดถูกหรือผิด วิธีที่ดีที่สุดคือวิธีที่ใช้ได้ผล

การจดบันทึกในการแปลแบบล่ามพูดตามเป็นทักษะที่ล่ามทุกคนควรฝึกฝนแม้จะทำงานแปลแบบล่ามพูดพร้อมเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ในอดีตเชื่อกันว่าก่อนจะไปเรียนการแปลแบบล่ามพูดพร้อมผู้เรียนจะต้องฝึกทักษะการแปลแบบล่ามพูดตามให้ชำนาญเสียก่อนเพราะการแปลแบบล่ามพูดตามเป็นการแปลที่บังคับให้ผู้แปลต้องคิดวิเคราะห์และจัดระเบียบเนื้อความเพื่อให้สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุดในภาษาปลายทาง ล่ามพูดพร้อมที่แปลแบบไม่มีคุณภาพอาจพอดำน้ำไปได้ในบางช่วงโดยผู้ฟังไม่ทันสังเกต แต่ล่ามพูดตามจะถูกจับได้ทันทีหากพูดคำแปลที่ด้อยคุณภาพออกมา นี่เป็นเหตุผลที่ดีที่ล่ามทุกคนควรฝึกทักษะการแปลแบบพูดตามให้ชำนาญเข้าไว้ ซึ่งการจดบันทึกถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากต่อความสำเร็จในการแปลแบบล่ามพูดตาม


เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

    4920
    1