top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

Occupational Safety and SI Booths: อาชีวอนามัยและอุปกรณ์ที่เป็นปัญหาสำหรับล่ามการประชุม

Updated: Nov 14, 2020

#ล่ามการประชุม #ล่ามพูดพร้อม #อาชีวอนามัย


การทำงานเป็นล่ามการประชุมเป็นสัมมาชีพที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตไม่น้อยไปกว่าอาชีพสุจริตอื่น เวลาที่พูดถึงอาชีวอนามัยคนมักนึกถึงการทำงานในโรงงานที่ต้องสัมผัสสารเคมี การทำงานกับเครื่องจักร การทำงานในที่สูงหรือสถานที่ซึ่งมีเสียงดัง เรามักไม่คิดว่าการทำงานเป็นล่ามจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจไม่เข้าใจว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานของล่ามอาจทำให้เกิดปัญหาได้อย่างไร


ปัจจุบันการแปลแบบล่ามการประชุมส่วนใหญ่เป็นการแปลแบบพูดพร้อม หมายความว่าต้องใช้อุปกรณ์หูฟังและสิ่งที่เรียกว่าตู้ล่ามซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เสียงภายนอกเข้ามารบกวนการทำงานของล่าม และป้องกันไม่ให้เสียงของล่ามออกไปรบกวนผู้ฟังในห้องประชุมซึ่งอาจไม่ได้ต้องการฟังคำแปล ที่จริงแล้วการประชุมที่ใช้ล่ามแบบพูดพร้อมควรจัดในห้องประชุมที่มีห้องสำหรับล่ามทำงานสร้างเป็นส่วนหนึ่งของห้องประชุมนั้นด้วย ห้องประชุมที่มีห้องล่ามอยู่ในตัวจะช่วยแก้ปัญหาการรบกวนกันระหว่างล่ามกับผู้ฟังได้เป็นอย่างดีเพราะห้องล่ามจะมีทางเข้า-ออกที่แยกต่างหากจากทางเข้า-ออกของผู้ประชุม แต่ล่ามจะมองเข้าไปในห้องประชุมได้โดยผ่านกระจกใสที่กั้นอยู่ กระจกของห้องล่ามมักติดตั้งให้มีองศาเอียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันแสงสะท้อน ทำให้ล่ามสามารถเห็นผู้พูดและสิ่งที่ฉายอยู่บนจอได้อย่างชัดเจน ระบบเสียงก็เป็นระบบที่ติดตั้งตายตัวอยู่ในห้องนั้น ไม่ได้เคลื่อนย้ายบ่อยๆจึงสามารถปรับแต่งให้คมชัดได้ดีกว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีศูนย์ประชุมและสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกลักษณะนี้





ในประเทศไทยงานประชุมส่วนใหญ่ที่มีการแปลล่ามแบบพูดพร้อมจะจัดกันตามโรงแรมจึงต้องใช้ตู้ล่ามแบบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายโดยถอดออกเป็นชิ้นๆแล้วนำไปประกอบในสถานที่จัดงาน ตู้ล่ามชนิดนี้มีมาตรฐาน ISO กำกับอยู่ คือ ISO 4043 ซึ่งกำหนดไว้โดยละเอียดในเรื่องขนาด วัสดุ นำ้หนัก ฯลฯ ปัญหามักเกิดจากการใช้ตู้และอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นปัญหาที่แก้ไขยากเพราะผู้จัดงานเป็นคนเช่าอุปกรณ์แต่ไม่ได้เป็นผู้ใช้ จึงไม่ทราบว่ามีปัญหา ส่วนมากมักเช่าอุปกรณ์ที่มีราคาต่ำสุด ผู้ให้บริการอุปกรณ์ก็ไม่ได้เป็นผู้ใช้อุปกรณ์จึงอาจไม่ทราบหรือไม่สนใจว่ามีปัญหา ตราบใดที่ผู้จัดพอใจก็ถือว่าใช้ได้ ในสถานการณ์ที่แปลกประหลาดนี้ล่ามเป็นผู้ใช้อุปกรณ์มากที่สุด (ผู้เข้าประชุมที่ฟังคำแปลก็ใช้อุปกรณ์เหมือนกัน แต่น้อยกว่าล่าม) ล่ามเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุปกรณ์มากที่สุดและปัญหานั้นมักไม่ได้รับการแก้ไขสักเท่าไร จะไปบอกผู้จัดก็กลัวเขาจะว่าเรื่องมาก จะบอกผู้ให้เช่าอุปกรณ์บางครั้งก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะคนจ่ายเงินเขาไม่ใช่ล่าม ปัญหาเกี่ยวกับตู้ล่ามมีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ตู้มีขนาดเล็กเกินไป พัดลมระบายอากาศเสียงดัง หน้าต่างเล็กและสูงเกินไปจนมองออกมาแทบไม่เห็น แถมยังเอาพรมสีดำมาบุผนังและเพดานจนมืดทึมไปหมด บางเจ้าเอาฟองน้ำแบบลังไข่มาบุ ซึ่งทั้งพรมและฟองน้ำมีละอองเล็กๆที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ถ้าใครแพ้ละอองพวกนี้จะมีปัญหาแน่นอน ดิฉันเรียกตู้แบบนี้ว่าเรือดำน้ำ


แล้วตู้ดีๆแบบที่ไม่เป็นเรือดำน้ำไม่มีเลยหรือ มีสิคะ ตู้แบบเห็นวิวเหมือนเฮลิคอปเตอร์แถมมีบริการช่างเทคนิคฝีมือเยี่ยมประสบการณ์สูงก็มีค่ะ แต่ราคาก็มักสูงตามไปด้วย เราจึงมีโอกาสที่จะเจอตู้แบบเรือดำน้ำมากกว่า ตู้เรือดำน้ำนั้นเป็นตู้ที่สั่งต่อขึ้นเองตามความเข้าใจของผู้ให้บริการ ไม่ทราบเหมือนกันนะคะว่าตอนสั่งต่อเขาได้ไปดูมาตรฐานอะไรเป็นการอ้างอิงหรือเปล่า นอกจากเรื่องวัสดุที่ใช้บุเพื่อเก็บเสียงที่สร้างปัญหาละอองฟุ้งแล้วก็มีเรื่องทัศนวิสัยนี่แหละค่ะที่เป็นปัญหาใหญ่อีกประการ ตามมาตรฐาน ISO นั้นตู้ล่ามจะต้องมีหน้าต่างสามด้าน หน้าต่างด้านหน้าจะต้องกว้างเท่าความกว้างของตู้ สูงไม่ต่ำกว่า 80 ซ.ม. และขอบหน้าต่างจะสูงจากพื้นโต๊ะที่วางคอนโซลล่ามได้ไม่เกิน 10 ซ.ม. (คือนั่งลงไปแล้วต้องมองออกมาข้างนอกได้สะดวก ไม่ต้องเอาเก้าอี้สองตัวมาซ้อนกันแล้วปีนขึ้นไปนั่ง ไม่ต้องชะเง้อ) หน้าต่างด้านข้างต้องมีความกว้างอย่างน้อยเท่ากับความลึกของโต๊ะด้านใน (คือนั่งแปลอยู่แล้วมองออกมาข้างๆได้) ตู้นั้นควรติดตั้งบนยกพื้นที่มั่นคงและมีความสูงจากพื้นห้อง 30 ซ.ม. และติดตั้งในสถานที่ที่ล่ามจะมองเห็นเวทีและผู้พูดได้อย่างชัดเจน เรื่องยกพื้นนี่ไม่ค่อยเห็นใครทำกันเลยนะคะ ยกเว้นในการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญจริงๆ แต่ถ้าทำได้จะดีมากเพราะจะแก้ปัญหาเรื่องคนชอบมายืนบังหน้าตู้หรือช่างภาพชอบเอากล้องมาตั้งบังได้ส่วนหนึ่ง ข้อกำหนดที่สำคัญอีกประการคือจะต้องเว้นที่ระหว่างตู้ล่ามกับเก้าอี้ผู้ฟังอย่างน้อย 2 เมตรพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนกัน และประตูของตู้ล่ามจะต้องเปิดออกด้านนอกเมื่อเปิดแล้วจะต้องมีทางเดินกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตรเพื่อให้หนีได้สะดวกในกรณีฉุกเฉินเช่นไฟไหม้หรือแผ่นดินไหว


ในการแปลแบบพูดพร้อมล่ามจะใช้อุปกรณ์อยู่สองชิ้น ชิ้นแรกคือหูฟังซึ่งจะนำเสียงผู้พูดมาเข้าหูล่าม หูฟังนั้นมีหลายแบบหลายคุณภาพ มาตรฐานกำหนดไว้ว่าหูฟังต้องเป็นชนิดครอบหูและใส่สบายชนิดที่ใส่ได้ทั้งวัน ไม่ควรใหญ่เทอะทะหรือมีน้ำหนักมากไปจนใส่ไม่กี่ชั่วโมงก็รู้สึกเหมือนคอจะหัก และที่สำคัญที่สุดคือต้องให้เสียงที่คมชัดปราศจากเสียงรบกวน ปัญหาที่พบบ่อยคือมีเสียงจี่ในหูฟัง หรือเสียงไม่ดังมากพอที่จะแยกแยะได้ว่าผู้พูดพูดว่าอะไร ผู้ที่จะช่วยเราได้ดีที่สุดในเรื่องระบบเสียงและอุปกรณ์คือช่างที่เป็นผู้ดูแลอุปกรณ์ค่ะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดวงของเราด้วยนะคะ เพราะผู้ให้บริการอุปกรณ์บางเจ้าเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขหรือปรับแต่งระบบเสียงสักเท่าไร คำแก้ตัวมาตรฐานที่จะพบคือมันไม่ได้เป็นที่ระบบของเขา มันเป็นที่ระบบของโรงแรม ในกรณีนั้นล่ามก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเอง อุปกรณ์อีกชิ้นที่ล่ามใช้คือคอนโซลล่ามที่เห็นเป็นไมโครโฟน เวลาจะแปลก็กดปุ่มให้ไฟแดงขึ้นแล้วก็พูดคำแปลไป แต่คอนโซลบางรุ่นใช้ยากมากค่ะ บางรุ่นเป็นแบบสัมผัสต้องแตะเบาๆถึงติด บางรุ่นเป็นแบบปุ่มจริงที่ที่ต้องออกแรงกด บางเจ้าไม่ได้ใช้คอนโซลที่ผลิตมาเพื่อการแปลล่ามโดยเฉพาะแต่ไปซื้อของมาประกอบเอง ฯลฯ มาตรฐาน ISO ที่กำกับตัวอุปกรณ์การแปลแบบล่ามพูดพร้อมคือมาตรฐาน ISO 20109 นะคะ


ที่เล่ามาพอสังเขปนี้เป็นปัญหาซึ่งล่ามการประชุมประสบอยู่เนืองๆเป็นรายวัน ซึ่งล้วนก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกายสุขภาพจิตได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแพ้ฝุ่นละอองในตู้ล่าม การฟังจากหูฟังที่ไม่ได้มาตรฐานจนเกิดปัญหาในการได้ยิน การชะเง้อเพื่อมองออกมาภายนอกจนคอเคล็ด (ล้อเล่น) หรือการสะดุดหกล้มหรือไม่สามารถออกมาจากตู้ล่ามได้ทันเวลาในกรณีฉุกเฉิน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่สามารถแก้ได้ทั้งหมดหากผู้ให้บริการอุปกรณ์มีความใส่ใจ และหากผู้จัดงานเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพ หน่วยงานที่ออกมารณรงค์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานหรือรณรงค์เพื่อการทำงานที่มีคุณค่า หรือองค์กรที่ใส่ใจในเรื่อง CSR เมื่อหน่วยงานเหล่านั้นจัดการประชุมที่ใช้ล่ามพูดพร้อมควรจัดหาอุปกรณ์การแปลที่ได้มาตรฐาน ISO และช่างเทคนิคที่มีประสบการณ์กับมีความตั้งใจในการทำงานเท่านั้น เพื่อเอื้ออำนวยให้การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะอุปกรณ์และการสนับสนุนที่ดีจะช่วยให้ล่ามทำงานได้ง่ายขึ้น แปลดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การประชุมประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

64 views0 comments
bottom of page