top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

ตัวคูณในตัวเลข

Updated: Nov 14, 2020


ในการแปลแบบล่ามทำไมตัวเลขจำนวนบางตัวจึงแปลยากกว่าตัวอื่น


ตัวคูณมีอยู่ในตัวเลขจำนวนทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตัวเลขที่มีตัวคูณน่าจะมีความซับซ้อนกว่าตัวเลขจำนวนอื่นจึงทำให้มีปัญหาในการแปลมากกว่า ในระบบตัวเลขจำนวนในภาษาอังกฤษตัวคูณที่ใช้คือ สิบ และ ร้อย สำหรับภาษาไทยตัวคูณที่ใช้คือ สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน และ ล้าน



ในภาษาอังกฤษตั้งแต่หลักพันขึ้นไปตัวเลขจำนวนจะแบ่งเป็นช่วงตามคำที่ใช้ เช่น ช่วง thousand ประกอบด้วย thousand, ten thousand และ hundred thousand ช่วงอื่นๆก็เช่นกันที่จะมีการแบ่งตามรูปแบบนี้คือ million, ten million, hundred million แล้วจึงเปลี่ยนเป็น billion, ten billion, hundred billion และ trillion จึงจะเห็นได้ว่าตัวคูณที่ใช้มีเพียงสองตัวเท่านั้นคือ สิบ และ ร้อย ในระบบจำนวนนับของภาษาไทยเรานับจากหลักหน่วยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงหลักล้านแล้วจึงใช้จำนวนนับตั้งแต่หลักหน่วยจนถึงหลักล้านมาเป็นตัวคูณอีกทีหนึ่ง จึงเปรียบเสมือนการไล่นับจากหลักหน่วยขึ้นไปจนถึงหลักล้าน (หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน) แล้วเอาตัวเลขที่ใช้นับไปแล้วนั้นมาเป็นตัวคูณอีกรอบ (สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ล้านล้าน)


ในทิศทางการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมักพบปัญหาการแปลตัวเลขจำนวนที่มีตัวคูณบางตัว (ten thousand, hundred thousand, ten billion, hundred billion) เพราะเป็นจำนวนที่ล่ามต้องคิดวิเคราะห์เพิ่มก่อนจะแปลได้ ในขณะที่ตัวเลขจำนวนบางตัวสามารถจับคู่คำแล้วแปลได้เลย เช่น ten billion ไม่สามารถจับคู่คำแล้วแปลว่า สิบพันล้าน ได้ ก่อนแปลล่ามต้องวิเคราะห์ว่าพันล้านคูณสิบคือหมื่นล้าน แต่ ten million สามารถจับคู่คำแล้วแปลว่า สิบล้าน ได้เลย การที่ต้องคิดวิเคราะห์เพิ่มทำให้เกิดภาระทางปัญญา (cognitive load) เพิ่มสำหรับล่ามในขณะแปลตัวเลขนั้น จึงมักพบว่าล่ามมีปัญหาในการแปลตัวเลขจำนวนที่มีตัวคูณและไม่สามารถจับคู่คำได้มากกว่าการแปลตัวเลขจำนวนที่สามารถจับคู่คำออกมาเป็นคำแปลได้เลย


ในทิศทางการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษมักพบปัญหาในทำนองเดียวกันแต่เป็นปัญหาที่เกิดกับตัวเลขต่างจำนวนกับในการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ตัวเลขจำนวนที่มักพบปัญหาในการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษคือ หมื่นล้าน และ แสนล้าน ซึ่งมักมีการแปลผิดเป็น ten thousand million กับ hundred thousand million เนื่องจากไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์เพิ่มว่าหมื่นล้านคือพันล้านคูณสิบจึงต้องแปลว่า ten billion และแสนล้านคือพันล้านคูณร้อยจึงต้องแปลว่า hundred billion


ตัวเลขจำนวนเป็นเนื้อหาที่มักปรากฎปะปนอยู่กับเนื้อหาอื่นๆ สำหรับเนื้อหาทั่วไปเราจะสามารถใช้บริบทในการช่วยตีความได้ค่อนข้างมาก แม้เราไม่ทราบความหมายของคำบางคำหรือฟังข้อความบางส่วนไม่ทันเรายังอาจใช้เนื้อหาในส่วนอื่นๆช่วยวิเคราะห์ความหมายของข้อความโดยรวมได้ แต่สำหรับตัวเลขจำนวนเราไม่สามารถประมวลความหมายจากบริบทได้ (Gile, 1999; Braun & Clarici, 1996) เราจะวิเคราะห์ความหมายของจำนวนได้ก็จากจำนวนนั้นเป็นหลัก และตัวเลขจำนวนเป็นเนื้อหาที่มีความหนาแน่นของความหมายสูง (Alessandrini, 1990) (มีความซับซ้อนต้องวิเคราะห์หลายขั้นตอน) สาเหตุหลักของปัญหาในการแปลตัวเลขจำนวนคือเราปฏิบัติต่อตัวเลขจำนวนในวิธีเดียวกันกับที่เราปฏิบัติต่อเนื้อหาส่วนอื่น หากเราตระหนักว่าวิธีการที่ใช้วิเคราะห์เนื้อหาโดยทั่วไปจะไม่สามารถใช้ได้ผลดีกับการวิเคราะห์ตัวเลขจำนวน และหากเรากำหนดกลยุทธ์ในการวิเคราะห์ตัวเลขจำนวนไว้ให้ดีพร้อมฝึกฝนให้คล่องเราอาจแก้ปัญหานี้ได้


การแปลตัวเลขจำนวนให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่ล่ามทุกคนควรทำให้ได้เพราะเนื้อหาในต้นฉบับที่แปลมักมีตัวเลขแทรกอยู่เสมอ หากเราสามารถแปลเนื้อความส่วนอื่นๆได้ดีแต่มีปัญหาทุกครั้งที่แปลตัวเลขจำนวนคุณภาพในการแปลของเราจะไม่สม่ำเสมอ ล่ามที่ต้องการพัฒนาความสามารถในการแปลของตนให้ดียิ่งขึ้นไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการแปลตัวเลขจำนวน


Alessandrini, M.S. (1990). Translating numbers in consecutive interpretation: an experimental

study. The Interpreters’ Newsletter, 3(0), 77-80.


Braun, S. & Clarici, A. (1996). Inaccuracy for numerals in simultaneous interpretation: an

experimental study. The Interpreters’ Newsletter, 7(0), 85-102.


Gile, D. (1999). Testing the Effort Model’s tightrope hypothesis in simultaneous interpreting-a

contribution. Hermes, 12 (23), 153-172.



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

162 views0 comments
bottom of page