top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

การแปลแบบล่ามพูดพร้อมคือการฟังและพูดในเวลาเดียวกัน

การแปลแบบล่ามคือการถ่ายทอดความหมายที่รับฟังมาในภาษาต้นทางออกเป็นข้อความที่มีความหมายเดียวกันในภาษาปลายทางด้วยการพูด โดยสามารถกระทำได้ในสองแบบคือการแปลแบบล่ามพูดตามที่ล่ามพูดคำแปลเมื่อผู้พูดต้นฉบับเว้นช่วงให้ และการแปลแบบล่ามพูดพร้อมที่ทั้งผู้แปลและล่ามพูดไปพร้อมกันในเวลาเดียว ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมล่ามจะพูดคำแปลไล่หลังผู้พูดต้นฉบับในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีและในขณะพูดคำแปลล่ามจะต้องคิดวิเคราะห์เพื่อหาความหมายของข้อความที่เพิ่งรับฟังมาจากผู้พูด โดยในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังข้อความที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่เพื่อนำไปวิเคราะห์หาความหมายในช่วงเวลาต่อไปด้วย การแปลแบบล่ามพูดพร้อมจึงเป็นการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking)ที่ผู้ปฏิบัติต้องบริหารจัดการทุกสิ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลเพื่อให้สามารถดำเนินการแปลได้อย่างตลอดรอดฝั่งด้วย

ตามนิยามของสหภาพยุโรปการแปลแบบล่ามพูดพร้อมคือรูปแบบของการแปลแบบล่ามที่ผู้พูดพูดข้อความและล่ามสื่อข้อความนั้นอีกครั้งในภาษาปลาทางที่ผู้ฟังเข้าใจในเวลาเดียวกัน (หรือพร้อมกันกับผู้พูด) การแปลแบบล่ามพูดพร้อมประกอบด้วยขั้นตอนหลักสามขั้นตอนคือ การฟัง วิเคราะห์ และสื่อความ ทั้งสามขั้นตอนนี้เป็นสามขั้นตอนเดียวกันกับที่ล่ามต้องปฏิบัติในการแปลแบบล่ามพูดตาม แต่ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมล่ามต้องทำทั้งสามสิ่งในเวลาเดียวกัน (Pearson, 2018)



ทั้งการแปลแบบล่ามพูดตาม (Consecutive Interpreting) และการแปลแบบล่ามพูดพร้อม (Simultaneous Interpreting) เป็นส่วนหนึ่งของการแปลแบบล่ามการประชุม (Conference Interpreting) โดยผู้จัดการประชุมอาจเลือกใช้รูปแบบการแปลที่เหมาะสมกับลักษณะการประชุมของตน การแปลแบบล่ามพูดพร้อมเป็นการแปลที่ประหยัดเวลาเพราะผู้พูดไม่ต้องเว้นช่วงให้ล่ามพูดคำแปล นอกจากนี้ยังสามารถแปลจากภาษาที่ใช้ดำเนินการประชุมออกเป็นภาษาปลายทางหลายภาษาได้ในเวลาเดียวกัน โดยผู้ฟังสามารถเลือกช่องภาษาที่ตนต้องการฟังคำแปลและรับฟังเสียงแปลได้จากหูฟัง ด้วยเหตุนี้การประชุมในองค์การระหว่างประเทศที่ใช้หลายภาษาจึงมักใช้การแปลแบบล่ามพูดพร้อมซึ่งผู้ร่วมประชุมสามารถรับฟังและมีส่วนร่วมในการหารือได้ในภาษาของตน และเนื่องจากผู้พูดไม่ต้องหยุดเพื่อเว้นช่วงให้ล่ามแปลจึงสามารถถ่ายทอดความคิดได้อย่างต่อเนื่อง การประชุมจะสามารถดำเนินไปโดยไม่สะดุด แต่การแปลแบบล่ามพูดพร้อมก็มีข้อด้อยเพราะต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์จึงขาดความคล่องตัว การแปลแบบล่ามพูดพร้อมสามารถใช้ได้ในสถานที่ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์ไว้เท่านั้น ต่างจากการแปลแบบล่ามพูดตามที่สามารถปฏิบัติได้ในพื้นที่ซึ่งหลากหลายกว่า ในปัจจุบันที่มีการประชุมออนไลน์กันอย่างแพร่หลายได้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการแปลแบบล่ามพูดพร้อมออนไลน์โดยเฉพาะ และให้บริการแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ที่สามารถทำการแปลแบบล่ามพูดพร้อมบนแพลตฟอร์มนั้นขณะมีการประชุมได้ด้วย แต่เนื่องจากเป็นบริการใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความจำเป็นคุณภาพของบริการเหล่านี้จึงยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับคุณภาพของอุปกรณ์การแปลแบบล่ามพูดพร้อมที่ติดตั้งในห้องประชุม ปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต และปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจของผู้ใช้บริการ เช่นเรื่องคุณภาพเสียงของผู้ร่วมประชุมที่ไม่ใช้ไมโครโฟนต่อเชื่อมต่างหากออกมาจากคอมพิวเตอร์ (external microphone) แต่กลับใช้ไมโครโฟนที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อาจให้คุณภาพเสียงได้ไม่ดีเท่า

การแปลแบบล่ามพูดพร้อมเป็นรูปแบบการแปลที่เพิ่งนิยมนำมาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เท่านั้น การแปลแบบล่ามพูดพร้อมที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์คือการแปลแบบล่ามพูดพร้อมในการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials) ซึ่งทำให้การแปลแบบล่ามพูดพร้อมได้รับความสนใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการใช้การแปลในลักษณะการแปลแบบล่ามพูดพร้อมมาบ้างแล้วก็ตาม เช่นที่สันนิบาตชาติ (League of Nations) ได้มีการใช้การแปลลักษณะกึ่งพูดพร้อม โดยในขณะที่ผู้พูดพูดล่ามทุกภาษาจะฟังและจดบันทึก (แบบล่ามพูดตาม) จากนั้นจะมีล่ามหนึ่งภาษาแปลสิ่งที่ผู้พูดได้พูดไว้เมื่อครู่โดยพูดออกเครื่องขยายเสียง แต่ในเวลาเดียวกันนั้นอาจมีล่ามภาษาอื่น ๆ พูดคำแปลในภาษาปลายทางของตนไปพร้อมกับล่ามคนแรกแต่เป็นการพูดใส่เครื่องมือเพื่อนำเสียงแปลส่งผ่านหูฟังไปยังผู้ฟังที่เลือกช่องฟังคำแปลในภาษานั้น (Gaiba, 1998) นั่นเป็นยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำมาใช้เอื้ออำนวยการแปลแบบล่ามพูดพร้อม และมีการก่อตั้งโรงเรียนล่าม (interpreting school - มักเป็นสถาบันระดับบัณฑิตศึกษาที่ฝึกสอนทักษะการเป็นล่ามโดยเฉพาะ) เพิ่มขึ้นเพื่อผลิตนักวิชาชีพที่มีความสามารถเฉพาะทางออกไปทำงานเป็นล่ามการประชุม เมื่อเกิดโลกาภิวัตน์และมีการจัดการประชุมระหว่างประเทศมากขึ้น การประชุมเริ่มขยายตัวจากตะวันตกมาตะวันออกจึงเกิดโรงเรียนล่ามขึ้นในประเทศตะวันออกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย และมีการสอนวิชาการแปลแบบล่ามในสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น


เอกสารอ้างอิง

Gaiba, F. (1998). The origins of simultaneous interpretation : the Nuremberg trial. University Of Ottawa.

PEARSON, C. (2018, April 9). Simultaneous Interpreting. Knowledge Centre on Interpretation - European Commission. https://ec.europa.eu/education/knowledge-centre- interpretation/conference-interpreting/simultaneous-interpreting_en


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) และเป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามการประชุมได้อีกช่องทางที่ https://www.youtube.com/channel/UCyQGlZJdFncGnnJw0fsLhFQ

369 views0 comments
bottom of page