top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

การแปลแบบล่ามกับรูปธรรมและนามธรรมของภาษา



การแปลคือการถ่ายทอดความหมายที่สื่อออกมาในภาษาต้นทางไปยังอีกภาษาหนึ่งซึ่งเป็นภาษาปลายทาง องค์ประกอบของการแปลมีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม โดยส่วนที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็น ได้ยิน และเขียนได้ - นั่นคือคำและโครงสร้างภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าและปรากฏชัดเจนกว่าส่วนที่เป็นนามธรรม แต่รูปธรรมนี้จะไม่มีประโยชน์สักเท่าไรหากขาดความหมายซึ่งเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ แม้จะมีอยู่จริงก็ไม่สามารถมองเห็นได้ และจะเข้าถึงได้ด้วยการทำความเข้าใจเท่านั้น


ในการแปลที่ผู้แปลอ่านต้นฉบับแล้วเขียนคำแปล ปัจจัยเรื่องเวลามักไม่มีผลกระทบต่อการแปลมากนักตราบใดที่ผู้แปลยังสามารถแปลงานให้เสร็จได้ในเวลาที่กำหนด ในการแปลชนิดนี้ผู้แปลเป็นผู้ควบคุมเวลา ผู้แปลสามารถกำหนดเวลาที่ตนจะใช้ในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นการแปลได้ เช่นผู้แปลสามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เวลาอ่านต้นฉบับนานเท่าไร จะใช้เวลาหาข้อมูลเพื่อประกอบการแปลนานเท่าไร ผู้แปลอาจมีกรอบเวลาที่จะต้องทำงานแปลชิ้นนั้นให้เสร็จแต่จะสามารถบริหารจัดการได้เองว่าจะใช้เวลาเท่าไรในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นการแปล


ในการแปลที่ผู้แปลฟังต้นฉบับแล้วพูดคำแปล เวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการแปลอย่างมากเนื่องจากต้นฉบับจะไม่มีลักษณะคงทนเป็นเอกสารที่สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ แต่เป็นเสียงพูดที่จางหายไปเมื่อพูดจบ ผู้แปลจึงต้องบริหารจัดการหน้าที่ต่าง ๆ ที่ตนต้องทำในช่วงเวลานั้นให้สมดุลเพื่อประคองการแปลให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งและบรรลุวัตถุประสงค์ในการแปล-คือการถ่ายทอดความหมาย ไม่ว่าผู้แปลจะใช้วิธีจดหรือวิธีจำ ในการแปลผู้แปลมีทางเลือกสองทาง-คือจดจำคำที่ผู้พูดต้นฉบับใช้พูด(รูปธรรม) กับจดจำความหมายที่ผู้พูดต้นฉบับพูดออกมา(นามธรรม)


การเลือกจดจำคำหรือความ(หมาย)จะสร้างผลลัพธ์ต่างกันในการแปล โดยการจำคำจะไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากนักในการแปล การจำคำได้ทุกคำจนสามารถยกรูปประโยคของภาษาต้นทางมาใช้ในภาษาปลายทางจะทำให้ได้คำแปลที่ไม่เป็นธรรมชาติ มีวากยสัมพันธ์ที่มักไม่ปรากฏในภาษาปลายทาง สุดท้ายแล้วการแปลลักษณะนี้มักไม่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารเพราะให้ความสำคัญกับส่วนที่เป็นรูปธรรมมากเกินไป ในทางกลับกันการเลือกจดจำความ(หมาย)ในต้นฉบับจะทำให้ได้คำแปลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากผู้แปลไม่ถูกจำกัดโดยคำและโครงสร้างของภาษาต้นทาง ผู้แปลมีอิสระมากขึ้นในการเลือกใช้คำและโครงสร้างภาษาปลายทางที่เหมาะสมเพื่อสื่อความหมายนั้น แต่ก่อนที่จะจดหรือจำความ(หมาย)ให้ได้ ผู้แปลต้องตีความต้นฉบับและเข้าใจความหมายก่อน ในขณะที่หากผู้แปลเลือกจดหรือจำคำกับโครงสร้างประโยคผู้แปลจะไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการตีความก่อนเลย


ก่อนมาเรียนการแปลแบบล่ามผู้เรียนส่วนใหญ่มักมีความคุ้นเคยกับการแปลเอกสารมาแล้ว โดยอาจเคยเรียนวิชาการแปลวิชาอื่น ๆ ที่เป็นการแปลเอกสารมาก่อน เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือผู้เรียนจะมีความเข้าใจพื้นฐานมาแล้วว่าการแปลคือการถ่ายทอดความหมาย ไม่ใช่การจับคู่คำ ข้อเสียคือผู้เรียนอาจนำวิธีการแปลเอกสารมาใช้กับการแปลแบบล่ามซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา เพราะแม้จะเป็นการถ่ายทอดความหมายเหมือนกันแต่วิธีการและธรรมชาติของการแปลแบบล่ามไม่เหมือนการแปลเอกสาร จึงทำให้เกิดข้อจำกัดขึ้นในหลายเรื่อง


การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking)


ในชีวิตประจำวันเราอาจคุ้นเคยกับการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่นกินข้าวไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วย การแปลแบบล่ามก็เกี่ยวข้องกับการทำหลายอย่างในเวลาเดียว ต่างกันตรงที่เวลาเราทำ multitasking ในชีวิตประจำวันเรามักเป็นผู้กำหนดความเร็ว แต่เวลาเราทำ multitasking ในการแปลแบบล่ามผู้พูดต้นฉบับเป็นผู้กำหนดความเร็ว ส่วนผู้แปลจะต้องบริหารจัดการเวลาและทรัพยากรทางปัญญาที่มีอยู่เพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้นให้สมดุล


ในการแปลแบบล่ามพูดตาม เราแบ่งกระบวนการแปลออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือช่วงฟังต้นฉบับที่ล่ามจะฟังข้อความ ตีความ และเก็บบันทึกเนื้อหาไว้ใช้ในช่วงที่สอง ช่วงที่สองคือช่วงพูดคำแปลที่ล่ามจะนำเนื้อหาซึ่งบันทึกไว้มาประมวลและประกอบกันเป็นข้อความในภาษาปลายทางที่ตนจะพูดออกไปเพื่อสื่อสารให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจเหมือนผู้ฟังที่ฟังต้นฉบับโดยตรง


ทั้งสองช่วงนี้มีกิจกรรมที่ล่ามต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking) เช่นในช่วงแรกที่ฟังต้นฉบับล่ามต้อง:

1. ฟังเสียงและระบุคำ (ฟังให้ออกว่าผู้พูดกำลังพูดว่าอะไร)

2. ประมวลความหมายของคำเหล่านั้นที่ร้อยเรียงกันมาในโครงสร้างประโยค

3. จำและจดเนื้อหาที่แยกออกเป็นสองส่วน คือส่วนหนึ่งจำไว้ในสมอง กับอีกส่วนจดไว้ในสมุดบันทึก (หรือกระดาษ หรือแท็บเล็ต ฯลฯ)


ในช่วงที่สองของการแปล ซึ่งเป็นช่วงพูดคำแปล ล่ามต้อง:

1. ดึงเนื้อหาจากความจำมาประกอบกับเนื้อหาที่จดไว้

2. เลือกคำและโครงสร้างประโยคภาษาปลายทางที่เหมาะกับการสื่อความหมายในบริบทนั้นมาประกอบกันเป็นคำแปล

3. พูดคำแปลออกไปในภาษาปลายทาง และปรับเปลี่ยนวิธีพูดให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยดูปฏิกิริยาของผู้ฟัง


จะเห็นได้ว่าล่ามต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking) ในทั้งสองช่วงของการแปล ซึ่งการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันนี้ทำให้ล่ามมีสมาธิที่จะใช้กับหน้าที่ต่าง ๆ ที่ทำน้อยลงเพราะต้องแบ่งสมาธิไปทำอย่างอื่นด้วย ในช่วงแรกล่ามไม่สามารถใช้สมาธิไปกับการฟังและตีความได้ทั้งหมดเพราะต้องเจียดสมาธิไปใช้ในการจำและจดบันทึกข้อมูลด้วย ในช่วงที่สองล่ามไม่สามารถใช้สมาธิไปกับการอ่านเนื้อหาที่จดไว้ได้อย่างเดียวเพราะต้องเจียดสมาธิมานึกถึงเนื้อหาส่วนที่จำไว้ด้วย และต้องเจียดสมาธิมาคิดนำคำและโครงสร้างภาษามาประกอบขึ้นเป็นคำแปลเพื่อพูดสื่อสารออกไปให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายของข้อความเหมือนฟังจากต้นฉบับโดยตรง


ความแตกต่างในเชิงปฏิบัติระหว่างการแปลกับการล่าม


เราอาจสรุปได้ว่าการแม้การแปลกับการล่ามจะเป็นการถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นทางไปภาษาปลายทางเหมือนกัน แต่การแปลสองแบบมีความต่างกันด้านวิธีการ เวลา/ความเร็วที่กระทำการ และข้อจำกัดในการทำงาน แม้การแปลกับการล่ามจะมีวัตถุประสงค์เดียวกันแต่ทั้งสองอย่างนี้ดำเนินการในบริบทที่ต่างกัน เราจึงไม่สามารถนำหลักการหรือวิธีปฏิบัติที่เราใช้ในการแปลเอกสารมาใช้กับการแปลแบบล่ามได้ทั้งหมด การแปลเอกสารทำให้เราเห็นรูปธรรมของต้นฉบับชัดเจนกว่าและมีข้อจำกัดด้านเวลาน้อยกว่า แต่ด้วยรูปธรรมที่ชัดเจนของการแปลแบบนี้ผู้แปลอาจพบปัญหาอิทธิพลจากภาษาต้นฉบับ (source language influence) ได้มากกว่าการแปลแบบล่าม ส่วนการแปลแบบล่ามไม่มีต้นฉบับรูปธรรมที่หลงเหลือไว้ จึงทำให้ล่ามมีอิสระมากขึ้นในการเลือกคำและโครงสร้างภาษามาสื่อความหมาย แต่ความไร้รูปธรรมนี้เองก็อาจทำให้เกิดปัญหาเนื้อความตกหล่น หรือแปลผิดความหมายเพราะจำไม่ได้ ฟังไม่ทัน ฟังไม่ออก สิ่งที่ผู้เรียนการแปลแบบล่ามควรทำเมื่อเริ่มต้นเรียนคือปรับความคิดและความคาดหวังใหม่ และหลีกเลี่ยงการนำวิธีการที่ใช้ในการแปลเอกสารมาใช้ในการแปลแบบล่าม


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

1,647 views0 comments
bottom of page