top of page
Search

No Interpreter No Speak

Updated: Nov 14, 2020

#ผู้นำ #ไม่มีล่ามไม่พูด


เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวว่าอดีตประธานาธิบดีเยอรมนีเดินลงจากเวทีเอาดื้อๆ หลังทราบว่าไม่มีล่ามแปลสิ่งที่ตนพูดจากภาษาเยอรมันไปเป็นภาษาของประเทศที่ไปพูด และผู้จัดงานขึ้นมาบอกให้พูดเป็นภาษาอังกฤษแทน แถมยังบอกอีกว่าปีนี้ขอให้วิทยากรคนอื่นอภิปรายกันไปก่อน ปีหน้าจะกลับมาใหม่เมื่อมีล่ามให้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น


หลายคนอาจคิดว่าในเมื่ออดีตประธานาธิบดีท่านนี้ก็พูดภาษาอังกฤษได้ ทำไมต้องเรื่องมาก ทำไมไม่พูดๆไปเลย ไหนๆก็อุตส่าห์มาแล้ว บางคนอาจคิดถึงขนาดว่าอะไรกัน เคยมีตำแหน่งตั้งใหญ่โต พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยหรือ คงต้องบอกก่อนว่าตำแหน่งหน้าที่การงานหรือระดับการศึกษาของบุคคลไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของบุคคลนั้นเลย คนจะพูดภาษาได้ดีเมื่อได้ศึกษาหรืออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของภาษาและวัฒนธรรมนั้น หากบุคคลผู้มีตำแหน่งสูงหรือจบการศึกษาสูงไม่มีความถนัดทางภาษาแม้จะเรียนมาบ้าง และไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมของภาษาและวัฒนธรรมนั้น ก็เป็นไปได้ที่เขาจะไม่สามารถพูดภาษานั้นได้ บางคนที่เรียนมาอาจเขียนอ่านภาษาต่างประเทศได้ดีเพราะเป็นทักษะที่ใช้บ่อย แต่อาจพูดไม่ได้เลยก็เป็นไปได้ และความสามารถทางภาษาของเขาก็ไม่เกี่ยวกับความสามารถในการทำงานตามหน้าที่ของเขาเลย (หากเป็นหน้าที่ซึ่งไม่ต้องใช้ภาษา) เช่นเขาอาจจะเป็นผู้นำที่ดีแต่ภาษาอังกฤษใช้ไม่ได้ หรืออาจจะเป็นครูที่เก่งมากๆในวิชาที่สอนแต่ภาษาอังกฤษอ่อน จึงเป็นไปได้ที่บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติเด่นมากๆในงานที่ตนทำจะไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และไม่ควรจะถือว่าเป็นข้อบกพร่องแล้วนำมาวิจารณ์



การจะเก่งภาษานั้นไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาสั่งสมมาเรื่อยๆ ภาษาเป็นสิ่งที่ควรเริ่มพัฒนาตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องมีการใช้อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ล่ามเองเมื่อไม่ได้ใช้ภาษาในกลุ่มไหนไปนานๆ เวลาจะกลับมาใช้อีกทียังต้องมีการทบทวนที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็นการ activate ภาษาในกลุ่มนั้น เปรียบเสมือนเราย้ายลิ้นชักเก็บของ ของที่เราใช้ทุกวันเก็บไว้ในลิ้นชักหนึ่ง ของที่ไม่ค่อยได้ใช้เก็บไว้ในอีกลิ้นชักหนึ่ง ครั้นเมื่อเรารู้ตัวล่วงหน้าว่าจะต้องไปแปลในหัวข้ออะไร เราอาจย้ายลิ้นชักคำศัพท์ข้อมูลในหัวข้อนั้นจากลิ้นชักที่ไม่ค่อยได้ใช้ มาเก็บไว้ในลิ้นชักที่ใช้บ่อยก่อนก็ได้ เพื่อเวลาไปทำงานจริงจะได้หยิบใช้ได้ง่ายๆ หากบุคคลทำงานในหน้าที่ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่แปลกที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของเขาจะด้อยกว่าบุคคลซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อกว่า


ดูเหมือนว่าสังคมเราจะเอาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนมาตัดสินความสามารถของเขาอยู่เนืองๆ ทั้งที่ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลแล้วมันค่อนข้างจะไม่เป็นธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งสูงๆหลายรายฝืนพูดภาษาอังกฤษเวลาได้รับเชิญไปกล่าวในงานต่างๆ บางรายซ้อมพูดไปดีการพูดก็เป็นไปด้วยความราบรื่น แต่ถ้าเป็นการอภิปรายโอกาสที่จะเกิดปัญหาจะมีมากขึ้นเพราะท่านต้องฟังและโต้ตอบด้วย ในการประชุมลักษณะนี้ล่ามจึงมีบทบาทสำคัญมาก หากท่านอายที่จะใช้ล่าม ท่านอาจชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งไหนไม่พึงปรารถนามากกว่ากัน การใช้ล่ามแล้วโดนวิจารณ์ว่าภาษาไม่ดี หรือการฟังผิด เข้าใจผิด และตอบผิด จริงอยู่ที่เราควรส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนภาษาอังกฤษเพราะเป็นทักษะจำเป็นในชีวิต แต่สำหรับท่านที่อายุเลยวัยเรียนมามากแล้วและมีภาระหน้าที่อย่างอื่นก็ไม่ควรอายที่จะใช้ล่าม เพราะการใช้ล่ามที่ดีจะทำให้ท่านมีอิสระในการสื่อสารยิ่งขึ้น ท่านจะสามารถเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และไม่ต้องแบกรับภาระทางปัญญา (cognitive load) ในการฟัง ตีความ และสื่อสารเป็นภาษาต่างประเทศ ท่านจะได้นำสมรรถนะส่วนนั้นไปคิดเรื่องเนื้อความที่ท่านจะพูดให้ชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น หรือหากท่านมีความสามารถในภาษาต่างประเทศอยู่แล้วระดับหนึ่ง การใช้ล่ามที่มีคุณภาพจะช่วยสนับสนุนการทำงานของท่านได้ เช่นบนเวทีประกวดนางงาม สาวงามหลายคนฟังและพูดภาษาอังกฤษได้ดีแต่เลือกที่จะใช้ล่าม เพราะการใช้ล่ามเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ฟังคำถามสองหน มีเวลาคิดคำตอบมากขึ้น และเมื่อตอบสามารถพูดเป็นภาษาของตน จึงสามารถคิดเรื่องเนื้อหาที่จะตอบได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวงกับภาษา นับว่าฉลาดทีเดียว


เนลสัน แมนเดลา กล่าวไว้ว่า If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart. แปลได้ว่า หากเราพูดกับคนในภาษาที่เขาเข้าใจ สิ่งที่เราพูดจะอยู่ในหัวของเขา แต่หากเราพูดกับคนในภาษาของเขา สิ่งที่เราพูดจะอยู่ในใจเขา นี่คงเป็นเหตุผลที่ผู้นำหลายๆคนเลือกที่จะใช้ล่ามแม้ตนจะพูดภาษาอังกฤษได้



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

347 views0 comments

Comments


bottom of page