top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

Migrating to the Online Classroom for Interpretation

Updated: Nov 14, 2020

#ล่าม #เรียนทางไกล


วิชาการแปลแบบล่ามพูดพูดพร้อมเป็นวิชาที่ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์นานาชนิดประกอบการสอน หากเราต้องการจะสอนทั้งทฤษฎีและจำลองสถานการณ์จริงเพื่อให้ผู้เรียนฝึกนำทฤษฎีนั้นไปปฏิบัติและสามารถกลับมาคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีรับมือกับปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการแปล แต่เดิมห้องเรียนล่ามพูดพร้อมที่ดิฉันใช้สอนจะมีตั้งแต่เครื่องมือพื้นฐานเช่นคอมพิวเตอร์ที่ต่อกันเป็นเครือข่ายโดยมีโปรแกรมควบคุมเป็นโปรแกรมห้องปฏิบัติการทางภาษา ซึ่งจะทำให้อาจารย์สามารถเข้าไปฟัง อัดเสียง และพูดคุยกับนักศึกษาแต่ละคน รวมทั้งสามารถควบคุมเครื่องของนักศึกษาและดูหน้าจอและดึงหน้าจอของนักศึกษาแต่ละคนมาขึ้นจอใหญ่ในห้องเรียนได้ด้วย ส่วนเครื่องมือแบบซับซ้อนหน่อยที่ใช้ก็จะมีอุปกรณ์การแปลแบบล่ามพูดพร้อมที่ติดตั้งในห้องแปลแบบล่ามที่อยู่ในห้องประชุมอีกที อุปกรณ์นี้เป็นชุดเครื่องมือที่ใช้ระบบอินฟราเรดส่งสัญญาณระหว่างชุดคอนโซลล่ามกับตัวรับสัญญาณของผู้ฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในห้องประชุมแบบตายตัว และเนื่องจากเรามีห้องแปลสองห้องไว้เผื่อสอนการแปลแบบ relay จึงซับซ้อนขึ้นไปอีกเรื่องการตั้งช่องสัญญาณไม่ให้เสียงแต่ละห้องตีกัน ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือชุดใหญ่ที่ใช้ในเวลาปกติ เมื่อมีความจำเป้นต้องย้ายการสอนทั้งหมดไปออนไลน์จึงเกิดความกังวลมากว่าจะรอดไหม


เวลาในการสอนหนึ่งคาบคือ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลากำลังพอดีที่จะได้ความต่อเนื่องแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้สมองล้าจนเกินไป วิชานี้มักเริ่มต้นด้วยการที่อาจารย์ให้คำอธิบายหลักการที่จะนำไปปฏิบัติในชั่วโมง หลังจากนั้นจะเป็นการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาทำเพื่อให้ได้ทดลองใช้หลักการที่อาจารย์อธิบาย แล้วจึงมาคุยกันเรื่องวิธีรับมือกับประเด็นปัญหาต่างๆ กิจกรรมแต่ละอย่างจะออกแบบมาเพื่อให้ต่อยอดจากกิจกรรมก่อนหน้า บางอย่างอาจจะต้องมีการย้ายที่นั่ง บางอย่างต้องขึ้นมาเขียนกระดาน บางอย่างออกมานำเสนอหน้าห้อง หรือพากันไปเรียนนอกห้องในบางครั้ง ซึ่งเมื่อย้ายมาสอนออนไลน์ส่วนของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางกายภาพต้องถูกตัดออกเกือบหมดเหลือเพียงการที่ทุกคนมานั่งกันอยู่หน้าจอ วิธีการสื่อสารก็ถูกจำกัดเหลือเพียงการพูดที่ทุกคนในห้องจะได้ยินหมด หรือส่งข้อความถึงกันทาง chat ในตอนแรกที่ใช้นั้นรู้สึกว่าทุกคนช่างอยู่ห่างไกล(ซึ่งเป็นเรื่องจริงเพราะนักศึกษาหลายคนอยู่ต่างจังหวัด) ทุกคนมีมารยาทดีหมดเพราะปิดไมค์ซุ่มฟังอย่างเงียบๆ บางคนถึงขนาดปิดกล้องไม่ให้คนอื่นมองเห็นตัวเองเพราะเพิ่งตื่นนอน ทุกคนยังไม่ค่อยกล้าทำอะไรกับระบบมากนัก มีแต่ครูที่พูดอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวเพราะไม่มีใครหืออืออะไรเลย นั่นเป็นครั้งแรกๆที่สอน ต่อมาเมื่อค่อยๆปรับตัวได้ก็พบข้อดีของการสอนออนไลน์ ที่เห็นชัดเจนประการแรกคือไม่ต้องเดินทาง ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกันก็เรียนได้ แอพพลิเคชันที่ใช้ก็พัฒนาไปมาก นอกจากจะมีไวท์บอร์ดให้เขียนได้เหมือนในห้องเรียนและสามารถให้ผู้เรียนเข้ามาเขียนได้ด้วย แล้วยังสามารถบันทึกเก็บไว้ สามารถแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยให้เข้าไปทำกิจกรรมในกลุ่มนั้นแถมครูยังเข้าไปฟังได้ด้วย และที่ดีมากๆคือสามารถกำหนดให้มีช่องสำหรับการแปลแบบล่ามพูดพร้อมได้ด้วย ทำให้มีช่องทางในการพลิกแพลงเพิ่มขึ้น แล้วแต่ว่าเราจะนำช่องทางเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างไรให้เข้ากับวัตถุประสงค์การเรียนการสอนของเรา หากได้มีโอกาสใช้มากขึ้นเชื่อว่าจะสามารถออกแบบบทเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อใช้กับการเรียนการสอนลักษณะนี้






การแปลแบบล่ามซึ่งเป็นการแปลทางไกลนั้นมีมานานแล้ว โดยช่วงแรกเป็นการแปลแบบพูดตามทางโทรศัพท์ แต่การแปลแบบนี้ไม่ได้รับความนิยม สมัยก่อนเวลาที่โทรเข้า conference line เสียงที่ได้ยินมักไม่ชัด บางครั้งสัญญาณขาดหาย บางครั้งมีคลื่นรบกวน ต่อมามีการประชุมแบบ video conference ซึ่งแปลแบบพูดพร้อมได้ แต่ในระยะแรกก็มีปัญหาคล้ายๆการประชุมทางโทรศัพท์ จะดีกว่าตรงที่เห็นหน้าท่าทางของผู้พูด ทำให้มีบริบทในการตีความมากขึ้น กระนั้นก็ยังมีบางวันที่ดาวเทียมมีปัญหา สัญญาณไม่ดี ฯลฯ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้มีผู้พัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับการแปลแบบพูดพร้อมทางไกลขึ้นมาโดยเฉพาะ และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนปัจจุบัน มีทั้งเจ้าที่มี option ครบอย่าง Interprefy จนถึงเจ้าที่มี function แบบพื้นฐานมาก ๆ เช่น Zoom แต่ปัญหาเกี่ยวกับ platform เหล่านี้คือมันทำให้ล่ามเหนื่อยมากกว่าการไปแปลในสถานที่ประชุม และยังมีปัญหาเรื่องความไม่เสถียรของอุปกรณ์กับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ในอนาคตเครื่องมือเหล่านี้น่าจะพัฒนายิ่งขึ้นและเข้ามาอยู่ในกระแสหลักสำหรับการแปลแบบล่าม ซึ่งประจวบเหมาะกับที่เรามีความจำเป็นต้องทำงานออนไลน์กันยิ่งขึ้น การสอนวิชาการแปลแบบล่ามจึงควรมีเนื้อหาครอบคลุมการแปลออนไลน์ด้วย และการเรียนการสอนบางส่วนก็สามารถกระทำได้ออนไลน์เช่นกัน กระแสนี้คงไม่มีใครต้านอยู่ เราควรมาคิดว่าจะรับมืออย่างไร



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

56 views0 comments
bottom of page