top of page
Search
Writer's pictureSasee Chanprapun

Language Classification for Interpreters

Updated: Nov 14, 2020

#ภาษาล่าม #ล่ามการประชุม


เวลาล่ามคุยกันอาจมีการกล่าวถึงภาษา ABC นั่นหมายความว่าอะไร เขากำลังพูดถึงการกำหนดภาษาของสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) ที่กำหนดให้ภาษา A เป็นภาษาแม่ของล่าม ภาษา B คือภาษาที่ล่ามใช้สื่อสารได้ดีเกือบจะเท่าภาษาแม่ และภาษา C คือภาษาที่ล่ามสื่อสารได้ดี ในการแปลจะกำหนดให้แปลจากภาษาอื่นเป็นภาษาแม่เท่านั้น เช่นแปลจากภาษา B เป็นภาษา A หรือ แปลจากภาษา C เป็นภาษา A ในบางกรณีอาจมีการอนุโลมให้แปลจากภาษา A เป็นภาษา B ได้ แต่จะไม่มีการแปลจากภาษา A เป็นภาษา C หรือการแปลจากภาษา B เป็นภาษา C หรือการแปลจากภาษา C เป็นภาษา B เด็ดขาดเพราะถือว่ายังมีความสามารถสื่อสารในภาษานั้นไม่มากพอที่จะแปลได้แม้จะสามารถใช้ภาษาดังกล่าวสื่อสารได้อย่างดีในชีวิตประจำวัน


แล้วใครเป็นคนกำหนดว่าภาษา ABC ของล่ามคนหนึ่งคือภาษาอะไรบ้าง ก็ล่ามด้วยกันนี่แหละค่ะเป็นคนกำหนด AIIC เป็นองค์กรที่ไม่มีการสอบเข้า หากต้องการเป็นสมาชิกคุณต้องไปหาคนรับรองมา ซึ่งคนรับรองนั้นจะต้องเป็นสมาชิก AIIC มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี โดยผู้ที่จะรับรองภาษา A ของคุณนั้นจะต้องมี 2 คน และภาษา A และ B ของเขาจะต้องเป็นภาษาเดียวกับภาษา A และ B ที่คุณใช้สมัคร สำหรับภาษา B ที่คุณใช้สมัครก็ต้องหาคนรับรอง 2 คนเช่นกันค่ะ โดย 1 ใน 2 คนนั้นภาษา A ของเขาจะต้องเป็นภาษา B ที่คุณใช้สมัคร และอีกหนึ่งคนที่จะรับรองภาษา B ที่คุณใช้สมัครนั้น จะมีภาษา A หรือ B ตรงกับภาษา B ที่คุณใช้สมัครก็ได้ สำหรับภาษา C ที่คุณใช้สมัครจะต้องมีผู้รับรองสองคนเช่นกัน โดยผู้รับรองอาจมีภาษา C ที่คุณใช้สมัครเป็นภาษา A B หรือ C ของเขาก็ได้ แต่ทั้งสองต้องมีภาษา A หรือ B เป็นภาษาเดียวกับที่คุณใช้สมัครเป็นภาษา A เวียนหัวแล้วใช่ไหมคะ




เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงจะให้ความสำคัญกับการจำแนกภาษาของล่ามมาก อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่าเราไม่สามารถลุกขึ้นมาอ้างลอยๆได้ว่าภาษา ABC ของเราคือภาษาโน้นภาษานี้เพราะมันต้องมีคนรับรองด้วยถ้าคุณเป็นสมาชิก AIIC หากไม่ได้เป็นสมาชิกการจะได้เข้าไปทำงานในการประชุมนั้นจะยิ่งยากขึ้นไปอีก ส่วนมากจะได้เข้าไปทำเพราะคนที่เป็นสมาชิกแนะนำ (คือเอาคอไปขึ้นเขียงรับรองให้ว่าคนนี้ทำได้แน่ๆ) ในระยะหลังที่ศูนย์กลางของโลกย้ายมาทางเอเชียมากขึ้นมีการจัดประชุมที่ต้องแปลเป็นภาษาของประเทศในเอเชียบ่อยขึ้น ทีนี้เกิดปัญหาว่าไม่สามารถหาล่ามที่มีภาษา A เป็นภาษาโลกตะวันตก (เช่นภาษาอังกฤษ) และภาษา B เป็นภาษาของประเทศในเอเชีย (เช่นบาฮาซาอินโดนีเซีย) ได้มากพอ อาจยกเว้นในกรณีของภาษาจีนซึ่งเป็นภาษา UN หรือภาษาญี่ปุ่นที่ชาวตะวันตกสนใจจะเรียน แต่สำหรับภาษาหายากเช่นภาษาไทย ในปัจจุบันก็ยังไม่มีล่ามคนใดที่มีภาษา A เป็นภาษาตะวันตกและภาษา B เป็นภาษาไทย จึงเกิดความจำเป็นขึ้นเองที่จะต้องปฏิบัติสวนทางกับความคิดแบบฝรั่งจ๋า (eurocentric) ที่ว่าเราควรจะแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาแม่เราเท่านั้น การแปลสวนทางจากภาษาแม่เป็นภาษาต่างประเทศเรียกว่า retour ซึ่งเป็นคำภาษาฝรั่งเศสหมายถึงการแปลกลับ


เมื่อมีการแปลกลับจึงเกิดความแตกต่างระหว่า one way booth กับ two way booth ความหมายก็ตามชื่อ คือล่ามที่ทำงานใน one way booth จะแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาแม่เท่านั้น ส่วนล่ามที่ทำงานใน two way booth จะแปลทั้งสองทางและได้ค่าจ้างมากกว่า จะเห็นได้ว่าการรจัดหาล่ามเพื่อทำงานในการประชุมนั้นมีความซับซ้อนมากเนื่องจากข้อกำหนดทางภาษาต่างๆ ที่สำคัญคือจะไม่มีการแปลระหว่างภาษา B กับภาษา C เด็ดขาดเพราะเป็นคู่ภาษาที่ล่ามไม่ได้มีความเชี่ยวชาญสูงสุดในภาษาใดเลย โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดจึงสูงมาก


ผู้จัดการประชุมในประเทศไทยยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการจำแนกภาษาของล่ามมากนัก ปัญหาที่พบอยู่เนืองๆคือเนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เราทุกคนเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเราจึงคิดว่าเราสามารถรับงานแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาต่างประเทศอีกภาษาที่เรามีความชำนาญในระดับที่จะเป็นภาษา B ของเราได้ หมายความว่าในสถานการณ์นี้เรามีความด้อยในทั้งสองภาษาที่เป็นคู่ภาษาที่เราแปล เช่นสมัยเรียนมหาวิทยาลัยดิฉันเรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาโท ดิฉันจึงคิดว่าตัวเองจะสามารถรับงานแปลในคู่ภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศสได้ หรือเพื่อนร่วมงานดิฉันเป็นล่ามที่แปลในคู่ภาษาไทย-ญี่ปุ่นอยู่ แต่เนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้จึงจะรับงานแปลในคู่ภาษาญี่ปุ่น-อังกฤษด้วย การแปลในลักษณะนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผู้จัดการประชุมควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกล่ามมากๆ นอกจากจะต้องแน่ใจว่าล่ามที่จะมาทำงานให้คุณเขามีความสามารถในการแปลแล้ว ควรต้องดูด้วยว่าเขามีความสามารถในการแปลในคู่ภาษาไหนและในทิศทางใด



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

652 views0 comments

Comments


bottom of page