top of page
Search

Insights into Sight Translation อย่าด่วนดีใจว่ามีเอกสาร

Writer: Sasee  Chanprapun Sasee Chanprapun

Sight Translation คือการแปลล่ามที่มีเอกสารประกอบ หรือบางครั้งเป็นการแปลจากเอกสารอย่าเดียว โดยไม่มีการฟังข้อความประกอบ ปัจจุบันมีหลายสถานการณ์ที่ล่ามหรือบุคคลทั่วไปอาจใช้ Sight Translation เพื่อช่วยในการสื่อสาร Sight Translation เป็นลูกผสมของการแปลกับการล่าม ที่ส่วนมากล่ามจะรับสารด้วยการอ่านเอกสารแล้วจึงสื่อความในเอกสารนั้นด้วยการพูดคำแปล แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาล่ามจึงไม่สามารถทำ Sight Translation ได้ด้วยวิธีเดียวกันกับที่นักแปลใช้ในการแปลเอกสาร




หากจะจำแนกให้ชัดเจน เราสามารถแบ่งการแปลล่ามจากเอกสารเป็นสองแบบ คือแบบที่ล่ามอ่านเอกสารแล้วแปลโดยไม่ต้องฟังต้นฉบับไปด้วยซึ่งเรียกว่า Sight Translation และแบบที่ล่ามอ่านเอกสารไปด้วย ฟังข้อความจากผู้พูดด้วย และตัวล่ามเองก็พูดคำแปลด้วยซึ่งเรียกว่า Sight Interpretation โดยการแปลล่ามมจากเอกสารนี้เป็นเทคนิควิธีที่มีประโยชน์ทั้งในการแปลแบบล่ามพูดตาม และการแปลแบบล่ามพูดพร้อม ในที่นี้จะขอเรียกเทคนิคการแปลล่ามจากเอกสารว่าเป็น Sight Translation ทั้งหมด ทั้งสำหรับแบบที่ล่ามต้องฟังผู้พูดไปด้วยแปลไปด้วยและแบบที่่ไม่ต้องฟัง


Sight Translation แบบเบื้องต้นที่หลายคนเคยทำมาแล้วในชีวิตประจำวันคือการอ่านข้อความแล้วพูดคำแปลให้ผู้ที่ไม่สามารถอ่านภาษานั้นได้เข้าใจ เช่นอ่านเมนูอาหารภาษาไทยแล้วแปลให้เพื่อนชาวต่างชาติฟัง หรืออ่านเอกสารกำกับยาแล้วแปลให้คนในครอบครัวฟัง ในการแปลลักษณะนี้เรามักไม่ค่อยมีข้อจำกัดด้านเวลา เราจึงสามารถพิจารณาคำและ/หรือโครงสร้างประโยคในต้นฉบับได้โดยละเอียด ปัญหาที่พบมักเป็นปัญหาด้านการตีความที่ผู้แปลให้ความสำคัญกับคำมากกว่าความหมายและแปลด้วยการนำคำมาจับคู่กันโดยไม่คำนึงถึงบริบท ซึ่งอาจทำให้ได้คำแปลที่ไม่สื่อความ แต่สามารถแก้ไขได้ไม่ยากโดยนำข้อมูลรอบข้างมาพิจารณามากขึ้นในการแปล


Sight Translation อีกแบบที่พบเห็นได้บ่อยคือการแปลข้อความในเอกสารที่มีความยาวพอสมควรให้ผู้ที่ไม่สามารถอ่านเอกสารนั้นได้ฟัง เช่นการแปลเอกสารคำให้การในศาลก่อนให้พยานลงนาม หรือการแปลข้อความในหนังสือเรียนให้เพื่อนร่วมชั้นฟัง ในการแปลลักษณะนี้ยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลามากนัก แต่จะมีแรงกดดันเพิ่มจากการที่มีคนคอยจ้องฟังคำแปลจากเราอยู่ และเนื่องจากเป็นข้อความที่ยาวขึ้นทำให้มีบริบทให้นำมาพิจารณาประกอบการตีความมากขึ้น ล่ามจึงสามารถเลือกได้ว่าจะแปลชิดต้นฉบับในส่วนไหน (เช่นส่วนที่เป็นศัพท์เฉพาะทาง) และผละจากต้นฉบับมากขึ้นได้ในส่วนไหน (เช่นส่วนที่เป็นสำนวนหรือส่วนที่ต้องอาศัยการตีความที่อิงบริบทมากขึ้น)


ในการแปลแบบล่ามการประชุมมีการใช้ Sight Translation ทั้งแบบพูดตามและแบบพูดพร้อม บางครั้งมีการกล่าวสุนทรพจน์ที่มีการเขียนไว้ล่วงหน้า ล่ามอาจได้รับเอกสารนั้นมาเพื่อประกอบการแปล หรือบางครั้งผู้พูดได้เตรียม slide มาล่วงหน้าเพื่อใช้ประกอบการนำเสนอ ล่ามก็อาจใช้ประโยชน์จากเอกสารนั้นได้เช่นกัน โดยเอกสารที่ใช้ประกอบการแปลจะมีประโยชน์มากน้อยเพียงไรและควรนำไปใช้งานอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเวลาที่มีในการเตรียมตัวกับเอกสารนั้น หากล่ามได้รับเอกสารล่วงหน้าพอสมควรและมีเวลาศึกษาโดยละเอียด สิ่งที่อาจเตรียมได้คือคำศัพท์และโครงสร้างความคิดในเอกสาร หมายความว่าล่ามอาจศึกษาเอกสารล่วงหน้าและเตรียมคำศัพท์ในภาษาปลายทางไว้าำหรับพูดคำแปล ทั้งที่เป็นคำศัพท์ทั่วไปที่เรารู้อยู่แล้วแต่อาจนึกไม่ออกในเวลาคับขัน และศัพท์เทคนิคกับชื่อเฉพาะต่าง ๆ เช่นชื่อองค์กรหรือตำแหน่งคนในองค์กร เมื่อทำเช่นนี้เท่ากับว่าล่ามได้เตรียมโครงร่างความคิดสำหรับคำแปลที่ตนจะไปพูดแล้ว แต่ต้องรอยืนยันว่าผู้พูดจะพูดจริงตามเอกสารหลังจากที่ได้ฟังผู้พูดแล้วเท่านั้น สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดผลเสีย (counterproductive) คือการแปลเอกสารนั้นไปล่วงหน้า (เป็นเอกสารแปลอีกฉบับหนึ่ง) แล้วนำไปอ่านตาม เพราะเป็นการผิดฝาผิดตัวที่นำวิธีการสำหรับการแปลเอกสาร (ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา) มาใช้ในการแปลล่าม (มีข้อจำกัดด้านเวลา) หากใช้วิธีการนี้อาจทำให้อ่านคำแปลไม่ทัน ไม่ได้ฟังผู้พูดจนอ่านคำแปลผิดที่ อ่านคำแปลในส่วนที่ผู้พูดเตรียมไว้ในเอกสารแต่ไม่ได้นำมาพูดจริง เกิดการหลงทางในเอกสารจนในที่สุดทั้งหาข้อความในเอกสารไม่เจอและทั้งไม่ได้ฟังสิ่งที่ผู้พูดพูด ทำให้ไม่สามารถแปลได้เลย




ในการแปลโดยใช้เอกสารประกอบควรใช้ขั้นตอน scan-skim-markup ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเวลาที่มีในการเตรียมตัว การ scan มิใช่การอ่านแต่เป็นการกวาดตามองเอกสารเพื่อหาสิ่งสะดุดตาที่มักเป็นปัญหาในการแปล (trigger) เช่นตัวเลข ชื่อเฉพาะ หัวข้อ แผนภูมิ ฯลฯ เพื่อให้ทราบว่าองค์ประกอบค่าง ๆ ของเอกสารมีอะไรบ้างและนำไปใช้ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหานั้น หากมีเวลาเพียงน้อยนิดและทำได้เพียงขั้นของการ scan ล่ามก็จะมีโครงสร้างของเนื้อความอยู่ในสมองแล้ว และมีความพร้อมที่จะฟังผู้พูดเพื่อนำเนื้อหามาเติมในโครงสร้างที่ตนมีอยู่ ประกอบเป็นความเข้าใจที่สมบูรณ์เพื่อพูดคำแปลต่อไป หากมีเวลามากขึ้นล่ามอาจเจาะอ่านในส่วนที่ตนสะดุดตา (skim) เป็นจุด ๆ ไป จะทำให้ได้เนื้อหามาประกอบการตีความมากขึ้น และหากมีเวลาเพิ่มขึ้นล่ามอาจทำเครื่องหมายในเอกสาร (markup) เช่นขีดเส้นใต้ ลากเส้นโยงข้อความ หรือเขียนข้อความกำกับเพื่อช่วยให้สามารถใช้เเอกสารได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าควรใช้เอกสารเป็นเครื่องประกอบการแปลเท่านั้น


การแปลล่ามที่มีเอกสารประกอบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นในข้อมูลที่เป็นรายละเอียดมาก เช่นวันที่หรือชื่อสถานที่ ข้อเสียคือเป็นการเพิ่มภาระทางปัญญาให้กับล่าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้เอกสารประกอบการแปลล่ามแบบพูดพร้อม ปัญหาที่พบบ่อยคือล่ามมักพิ่งพาเอกสารมากเกินไปจนขาดความตระหนักในภาพรวมของสถานการณ์ ล่ามควรใช้เอกสารเป็นปัจจัยประกอบในการแปลเท่านั้นโดยอาศัยความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของตนเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการแปล


 

เกี่ยวกับผู้เขียน


รศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) และเป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามการประชุมได้อีกช่องทางที่ https://www.youtube.com/channel/UCyQGlZJdFncGnnJw0fsLhFQ


ซื้อหนังสือการแปลแบบล่ามในการประชุมระหว่างประเทศได้ที่ https://thammasatpress.tu.ac.th/wp_tupress/product/66019/

 
 
 

Comments


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page