top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

How to Assess Your Interpreter

Updated: Nov 14, 2020

#ล่าม #ล่ามการประชุม #คุณภาพล่าม


ผู้จัดการประชุมส่วนใหญ่มีการประเมินวิทยากรและองค์ประกอบอื่นๆของงานอยู่แล้ว บางงานมีการประเมินล่ามด้วย ซึ่งมักเป็นการรวบรวมความเห็นของผู้เข้าประชุมโดยใช้แบบสอบถาม การประเมินลักษณะนี้อาจพอบอกเราได้ว่าผู้เข้าประชุมมีความพอใจมากน้อยเพียงไรกับการประชุม แต่สำหรับล่ามอาจต้องมีการประเมินที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าแค่ฟังความเห็นของผู้ใช้บริการ


ปัจจุบันการประชุมส่วนใหญ่ที่ใช้ล่ามจะใช้การแปลแบบล่ามพูดพร้อมเพราะประหยัดเวลาและไม่เป็นการรบกวนผู้ไม่ค้องการฟังคำแปล ผุ้ฟังอาจพิจารณาคุณภาพของล่ามจากการดูว่าล่ามคนนั้นแปลทันหรือไม่ และแปลถูกต้องหรือไม่


การดูว่าแปลทันหรือไม่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการดูว่าแปลถูกความหมายหรือไม่ ล่ามที่แปลทันไม่ได้หมายความว่าแปลถูกต้อง เราต้องพิจารณาคำแปลเทียบกับต้นฉบับด้วยว่าให้ความหมายตรงกันไหม ในการประชุมผู้ที่ฟังล่ามแปลมักเป็นผู้ที่มีความเข้าใจภาษาต้นฉบับไม่เพียงพอ (จึงต้องฟังคำแปล) ผู้ใช้บริการล่ามจึงไม่ใช่ผู้ที่ควรประเมินล่าม ผู้จัดงานจึงควรมอบหมายเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความชำนาญทั้งในถาษาต้นทางและภาษาปลายทางมาทำหน้าที่นี้



จริงๆแล้วผู้ที่สามารถประเมินคุณภาพล่ามได้ทะลุปรุโปร่งที่สุดคือล่ามด้วยกันเอง เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการสำรวจความเห็นของล่ามที่เป็นสมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ หรือ AIIC ( Association internationale des interprètes de conférence ออกเสียงว่าไออิก) ว่าคุณสมบัติของล่ามที่ดีคืออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าล่ามที่มีคุณภาพต้องสามารถแปลความหมาย (sense) ได้ถูกต้อง ที่สำคัญรองลงมาคือสามารถเรียนเรียงคำแปลให้เนื้อหาในส่วนต่างๆมีความยึดโยงกลมกลืนกันด้วย เป็นที่น่าสนใจว่าล่ามเหล่านี้จัดให้คุณสมบัติเช่นมีน้ำเสียงน่าฟัง แปลสนุก และสำเนียงดี อยู่ในลำดับความสำคัญท้ายๆ


สำหรับ NAATI หรือ National Accreditation Authority for Translators and Interpreters ของออสเตรเลีย เกณฑ์ที่ใช้ในการทดสอบล่ามพูดพร้อมคือความสามารถในการถ่ายทอดความหมาย ความสามารถในการแปลแบบพูดพร้อม ความสามารถทางวาทศาสตร์ และความสามารถในคู่ภาษาที่แปล โดยจะต้องได้คะแนนอย่างน้อยในระดับ band 2 ขึ้นไปจึงถือว่าสอบผ่าน


การประเมินการทำงานของล่ามพูดพร้อมเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและกินเวลา ผู้จัดงานควรหาบุคลากรที่มีความสามารถทางภาษามาเป็นผู้ประเมินและการประเมินนั้นควรกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งช่วงการแปล ผู้จัดงานไม่ควรประเมินเพียงช่วงแรกของการแปลแล้วถือว่าล่ามคนนั้นทำงานได้ และไม่ควรประเมินเพียงว่าล่ามพูดพร้อมคนนั้นแปลทันหรือไม่ แต่ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาการแปลด้วย จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งหากผู้จัดงานได้เตรียมการทุกขั้นตอนมาอย่างดีเพื่อให้งานประสบความสำเร็จแต่ต้องมาตกม้าตายในที่สุดเนื่องจากล่ามไม่สามารถถ่ายทอดความหมายที่ผู้พูดต้องการสื่อสารกับผู้ฟังได้ครบถ้วนสมบูรณ์ความ



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

116 views0 comments
bottom of page