top of page
Search
Writer's pictureSasee Chanprapun

Form and Meaning

Updated: Nov 14, 2020

คำและความ



นักแปลทั้งหลายจะเข้าใจดีว่าการแปลคือการถ่ายทอดความหมายหาใช่การจับคู่คำ แต่ก็ใช่ว่าการจับคู่คำจะเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไร้ประโยชน์ไปเสียหมดในการแปล การจับคู่คำสำหรับวิสามานยนามหรือชื่อเฉพาะต่างๆเป็นสิ่งที่นักแปลทำอยู่ทุกวันเพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่มีการบัญญัติเอาไว้อยู่แล้วแบบตายตัวในทั้งภาษาต้นทางและภาษาปลายทาง ในการแปลแบบล่ามการแปลวิสามานยนามและศัพท์เทคนิคเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับผู้คุ้นเคยกับเนื้อหา ส่วนผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นมาแปลในหัวข้อนั้นก็อาจเตรียมตัวล่วงหน้าโดยไปศึกษาคำเหล่านี้มาก่อนได้


สิ่งที่มีความสำคัญมากในการแปลคือการตีความ ซึ่งหมายถึงการแยกความหมาย (นามธรรม) ออกจากตัวภาษา (รูปธรรม) เมื่อสกัดความหมายออกมาได้แล้ว (ตีความได้ = เกิดความเข้าใจ) จึงนำความหมายนั้นไปสื่อเป็นภาษาปลายทางอีกทอดหนึ่ง ในวิธีการแบบนี้เราจะเห็นว่าสิ่งที่คั่นกลางระหว่างภาษาต้นทางกับภาษาปลายทางคือการตีความ ซึ่งมีความแตกต่างจากการจับคู่คำตรงที่การจับคู่คำเป็นการนำเอารูปธรรมในภาษาปลายทางมาจับคู่กับรูปธรรมในภาษาต้นทางโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดที่จะทำให้เกิดความเจ้าใจความหมายก่อน นั่นคือเราสามารถจับคู่คำได้แม้เราจะไม่เข้าใจความหมาย แต่เราจะไม่สามารถแปลได้หากเราไม่เข้าใจความหมาย


ในการแปลแบบล่ามมีการสอนทฤษฎีการตีความในลักษณะนี้อยู่ ทฤษฏีที่เก่าแก่ทฤษฎีหนึ่งใช้เทคนิค deverbalization ซึ่งมองคำและโครงสร้างประโยคในภาษาต้นทางว่าเป็นพาหนะหรือสิ่งห่อหุ้มที่จะนำสาร (ความหมายนามธรรม) จากผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังได้รับหีบห่อที่มีทั้งคำและโครงสร้างประโยคและสารอยู่ภายใน ผู้ฟังจะต้องแกะหีบห่อนั้นออกแล้วโยนสิ่งรูปธรรมทิ้งไปโดยเร็วเพื่อให้สามารถเข้าถึงความหมายบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในได้ (Seleskovitch, 1978)





เครื่องมือสำหรับแกะความหมายคือความรู้ (หรือจะเรียกว่าข้อมูลก็ได้) ซึ่งประกอบด้วยความรู้ภาษา (linguistic knowledge) และความรู้นอกเหนือจากภาษา (extra-linguistic knowledge) ที่ล่ามจะนำมาใช้ถอดความหมายออกมาจากต้นฉบับและนำความหมายประกอบชิ้นส่วนเป็นภาษาปลายทางอีกทีหนึ่ง นี่คงเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมล่ามจึงค้องมีการเตรียมข้อมูลทั้งในทางด้านภาษา (คำศัพท์) และทางด้านเนื้อหา (ความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อที่จะแปล) ก่อนจะไปทำงานใด


ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่พบในการแปลคือร่องรอยของภาษาต้นทางที่ปรากฏในคำแปล (source language interference) ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการจับคู่คำที่ไม่ควรจับคู่ เช่นในข้อความที่ควรตีความคำทุกคำในวลีหรือประโยครวมกันแต่ผู้แปลกลับตีความทีละคำแล้วนำมาเขียนต่อกัน และเกิดจากการไม่ปรับโครงสร้างประโยคในภาษาปลายทาง ยกตัวอย่างเช่นแม้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษจะมีโครงสร้างประโยคที่พอจะเทียบเคีบงกันได้ คือภาษาอังกฤษมี simple sentence, compound sentence และ complex sentence ภาษาไทยมี เอกรรถประโยค อเนกรรถประโยค และสังกรประโยค แต่ความนิยมในการใช้งาน (usage) ประโยคเหล่านี้ต่างกันมากในทั้งสองภาษา เราจะเห็นว่าข้อความที่แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมีคำว่า ที่ ซึ่ง อัน อยู่เต็มไปหมด หรือเราจะพบว่าภาษาอังกฤษที่แปลจากต้นฉบับภาษาไทยมีความวกวนอ่านแล้วเวียนหัวเหมือนขับรถอยู่บนภูเขาหลายโค้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรายังไม่ได้แปล”ความ”โดยสมบูรณ์


วิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ภาษาปลายทางเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นคือการคิดเป็นภาพ (visualization) สำหรับท่านที่ส่วนใหญ่คิดเป็นภาพอยู่แล้วจะเข้าใจว่าหากเราคิดเป็นคำพูด คำพูดในความคิดของเราจะต้องอยู่ในภาษาใดภาษาหนึ่ง และจำเป็นต้องหาคู่คำมาสื่อเป็นภาษาปลายทาง แต่หากคิดเป็นภาพ ภาพไม่อยู่ในภาษาต้นทางหรือภาษาปลายทาง เราจะสามารถถ่ายทอดความหมายจากภาพเป็นคำและโครงสร้างในภาษาปลายทางได้โดยปราศจากร่องรอยของภาษาต้นทางได้ดีกว่า


เมื่อทั้งนักแปลและล่ามสามารถถ่ายทอดความหมายได้โดยสมบูรณ์เป็นภาษาปลายทางที่เป็นธรรมชาติ จะช่วยเอื้อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจคำแปลของเราได้ดีขึ้น และการแปลจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดความหมายได้ยิ่งขึ้น


Seleskovitch, D. (1978). Interpreting for International Conferences. (Eric Norman McMillan & Stephanie Dailey, Trans.). Washington DC. Pen & Booth.


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

764 views0 comments

Comments


bottom of page