top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

การบริหารจัดการภาระทางปัญญาในการแปลแบบล่ามพูดพร้อม

Updated: Nov 14, 2020

Cognitive Load Management in Simultaneous Interpreting


#ล่ามพูดพร้อม #ภาระทางปัญญา


คนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับการแปลแบบล่ามพูดตามมากกว่าการแปลแบบล่ามพูดพร้อม มิหนำซ้ำยังเข้าใจว่าการแปลแบบล่ามพูดตามเป็นการแปลแบบที่ง่ายกว่าเพราะสามารถจดเนื้อหาและมีเวลาให้คิดมากกว่า จริงๆแล้วการแปลทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันในขั้นตอน กระบวนการ และวิธีเรียบเรียงความคิด ส่วนใครจะคิดว่าแบบไหนยากง่ายกว่ากันนั้นน่าจะขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน


สิ่งที่อยากจะพูดถึงในวันนี้คือเรื่องภาระทางปัญญา (cognitive load) ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อม ปัญหาอย่างแรกที่เราพบตอนหัดแปลคือแปลไม่ทัน เนื่องจากในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมเราต้องทำสามอย่างในเวลาเดียวกัน คือฟัง คิด และพูด ในขณะที่หูของเรากำลังฟังข้อความอยู่ สมองของเราก็กำลังคิดตีความข้อความที่เราได้ฟังไปเมื่อครู่ และปากของเราก็กำลังพูดคำแปลที่เราได้ตีความ เข้าใจความหมาย และเรียบเรียงเป็นภาษาปลายทางเสร็จแล้วก่อนหน้านั้น ทำอย่างนี้ต่อเนื่องกันไป ซึ่งเป็นการกระทำสามอย่างที่เราไม่เคยทำพร้อมกันเลยในชีวิตประจำวัน เราอาจเคยฟังและคิดในเวลาเดียวกัน หรือคิดและพูดในเวลาเดียวกัน แต่เราคงไม่เคยทั้งฟังทั้งพูดในเวลาเดียวกัน ทักษะการฟังคิดพูดในเวลาเดียวกันจึงเป็นทักษะที่เราต้องมาหัดใหม่เมื่อมาเรียนการแปลแบบล่ามพูดพร้อม




ได้มีการวิเคราะห์ถึงหน้าที่ต่างๆที่ล่ามต้องทำในหนึ่งช่วงเวลาของการแปลแบบล่ามพูดพร้อม มีงานวิจัยอยู่มากพอสมควรในเรื่องนี้โดยนำความรู้ทางประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) มาอธิบายสาเหตุของปัญหาที่เกิด คำอธิบายหนึ่งต่อเรื่องการแปลไม่ทันคือคำอธิบายที่ว่า ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมที่เราต้องฟังคิดพูดในเวลาเดียวกันนั้น เกิดภาระทางปัญญา (cognitive load)ในระดับที่มากเกินกว่าขีดความสามารถ (capacity) ของเราที่จะรับได้ Daniel Gile (2009) ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับแบบจำลองหน้าที่ในการแปล (Effort Model) ไว้ว่าในการแปลแบบพูดพร้อมล่ามต้องทำสี่อย่างในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำ (effort) ทั้งสี่อย่างนั้นคือ ฟัง(Listening) คิดคำแปล(Production-render target language) จำเนื้อความ(Memorizing) และประสานความพยามยามทั้งสามอย่างเข้าด้วยกัน(Co-ordination) ดังนั้นการแปลแบบล่ามพูดพร้อม(SI) = L+P+M+C ปัญหาจะไม่เกิดหากความต้องการใช้ทรัพยากรสมองเพื่อทำสี่อย่างนี้ไม่เกินศักยภาพสมองที่มีอยู่ ณ เวลานั้น หมายความว่าตามแผนภาพด้านล่างผลรวมของการทำงานในฝั่งขวาจะต้องไม่เกินศักยภาพที่มีทางฝั่งช้าย แต่หากเกิดสถานการณ์ที่มีตัวกระตุ้น (trigger) เช่นวิทยากรพูดเร็ว สำเนียงฟังยาก เนื้อหาซับซ้อน ฯลฯ ทำให้ความต้องการในการใช้ทรัพยากรสมองเพิ่มขึ้นเกินกว่าขีดของทรัพยากรที่มีอยู่ก็จะเกิดความล้มเหลวในการแปล





หากเราเชื่อในแนวคิดของ Gile สิ่งที่เราควรทำคือบริหารจัดการภาระทางปัญญาของเราให้ดี เมื่อเราทราบว่าทรัพยากรสมองของเรามีอยู่จำกัดเราจึงต้องแบ่งเฉลี่ยทรัพยากรให้กับการทำหน้าที่ต่างๆในสัดส่วนที่เหมาะสม ล่ามฝึกหัดส่วนมากจะมีปัญหาจากการแบ่งทรัพยากรสมองให้กับการฟัง(L) และการจำ(M) มากเกินไปจึงล้มเหลวในส่วนของการผลิตคำแปล(P) หรือบางคนอาจเกลี่ยทรัพยากรสมองให้กับการฟัง(L) การจำ(M) และการผลิตคำแปล(P) ได้ดีแล้ว แต่ทรัพยากรสมองหมดพอดีไม่เหลือไว้สำหรับประสานการทำงาน(C) เลย ก็จะไม่สามารถทำให้หน้าที่ทั้งสามอย่างประสานสอดคล้องกันจนสามารถแปลได้


การบริหารจัดการภาระทางปัญญาเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ในตอนแรกผู้เรียนส่วนใหญ่จะมีปัญหาแปลไม่ทันเพราะมัวแต่ตั้งใจฟังและคิดหาความหมาย แต่เมื่อฝึกไปสักระยะจะสามารถปรับตัวได้ และในที่สุดจะแปลได้ทัน การแปลทันเป็นบททดสอบแรกของผู้ที่ต้องการเป็นล่ามพูดพร้อมแต่ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งบอกถึงคุณภาพในการแปล ล่ามพูดพร้อมที่มีคุณภาพทุกคนต้องแปลได้ทัน แต่ไม่ใช่ล่ามที่แปลได้ทันทุกคนจะเป็นล่ามพูดพร้อมที่ดี เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการแปลได้ทันคือการแปลได้ถูกความหมาย




Gile, D. (2009). Basic concepts and models for interpreter and

translator training. Amsterdam: Benjamins.



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

599 views0 comments
bottom of page