top of page
Search
  • Writer's pictureSasee Chanprapun

Chasing Equivalence

Updated: Jul 14, 2023

Interpreting is a continuous negotiation for equivalence. You maneuver constantly between the two zones, chasing after that ball - a skill and an art.


หากการแปลมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นทางไปยังภาษาปลายทาง ผู้แปลมักกำหนดเป้าหมายในการคิดคำแปลให้ "เหมือน" หรือ "เท่า" กับภาษาต้นฉบับ ความ "เท่า" ที่เห็นได้ชัดเจนและเข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือความ "เท่า" ในพจนานุกรม ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงเบื้องต้นที่มีประโยชน์แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วนเพียงพอสำหรับการแปล


หากเปรียบการแปลเป็นการเตะบอล ผู้แปลกำลังวิ่งไล่ลูกบอลที่ชื่อ equivalence และเล่นบอลสลับกันไปมาระหว่างสองแดนอยู่ตลอดเวลา แดนแรกคือแดน semantic translation ที่เห็นรูปธรรมชัดเจนและจับต้องได้มากกว่า มักเป็นแดนเริ่มต้นที่ผู้แปลพยายามหาคู่คำของคำซึ่งปรากฏในต้นฉบับมาใช้และนำคำมาจับคู่เรียงกันไปเรื่อย ๆ โดยให้ความสำคัญกับการหาคู่คำมากกว่าการเรียบเรียงรูปประโยค


ต่อมาผู้แปลอาจพบว่าคำแปลของตนเป็นภาษาที่ไม่เป็นธรรมชาติหรือไม่สามารถสื่อความหมายได้ตามต้องการ ผู้แปลจึงขยับมาเล่นในแดน communicative translation ที่คำแปลไม่จำเป็นต้องเป็นคู่คำของคำในต้นฉบับและโครงสร้างประโยคแปลไม่จำเป็นต้องเหมือนโครงสร้างประโยคต้นฉบับ โดยผู้แปลให้น้ำหนักกับความหมายที่สื่อออกมาว่าต้องเหมือนต้นฉบับหรือก่อให้เกิดปฏิกริยาเดียวกับต้นฉบับมากกว่า





ในการทำงานแปลหนึ่งชิ้นผู้แปลจะพบว่าตนข้ามไปมาระหว่างสองแดนนี้อยู่ตลอดเวลา แทบจะไม่มีงานแปลชิ้นใดหรือประเภทใดเลยที่จะแปลแบบ semantic translation หรือ communicative translation เพียงอย่างเดียวได้ตลอด เพราะเนื้อความบางอย่างเช่นศัพท์เทคนิคหรือชื่อเฉพาะก็เหมาะกับการแปลแบบคำต่อคำ แต่เนื้อความบางอย่างเช่นสำนวนหรือคำแสลงก็อาจไม่สามารถสื่อความได้หากแปลโดยยึดคำเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้การแปลจึงเป็นการชั่งน้ำหนัก (negotiation) อยู่ตลอดเวลาว่าจะใช้วิธีการใด (semantic หรือ communicative) และใช้มากน้อยเพียงไรในการแปลงานชิ้นนั้น


ผู้แปลที่มีกลยุทธ์ดีในการตัดสินใจเลือกแดนที่จะเล่นจะสามารถคิดคำแปลที่สื่อความได้และมีความหมายถูกต้องตามต้นฉบับด้วย แต่หากตัดสินใจพลาดอาจได้คำแปลที่แม้จะใช้คู่คำถูกต้องทั้งหมดแต่ไม่สามารถสื่อความหมายได้เพราะรูปประโยคและวิธีการนำเสนอนั้นห่างไกลจากลักษณะภาษาปลายทางมาก หรืออาจได้คำแปลที่อ่านรู้เรื่องสื่อความได้สมบูรณ์แต่เป็นความหมายที่ไม่ตรงกับต้นฉบับ การตัดสินใจว่าจะเล่นในแดนไหนและเล่นอย่างไรจึงมีความสำคัญ



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

118 views0 comments

Comments


bottom of page