top of page
Search

ตัวคูณในตัวเลข

Writer: Sasee  Chanprapun Sasee Chanprapun

Updated: Nov 14, 2020


ในการแปลแบบล่ามทำไมตัวเลขจำนวนบางตัวจึงแปลยากกว่าตัวอื่น


ตัวคูณมีอยู่ในตัวเลขจำนวนทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตัวเลขที่มีตัวคูณน่าจะมีความซับซ้อนกว่าตัวเลขจำนวนอื่นจึงทำให้มีปัญหาในการแปลมากกว่า ในระบบตัวเลขจำนวนในภาษาอังกฤษตัวคูณที่ใช้คือ สิบ และ ร้อย สำหรับภาษาไทยตัวคูณที่ใช้คือ สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน และ ล้าน



ในภาษาอังกฤษตั้งแต่หลักพันขึ้นไปตัวเลขจำนวนจะแบ่งเป็นช่วงตามคำที่ใช้ เช่น ช่วง thousand ประกอบด้วย thousand, ten thousand และ hundred thousand ช่วงอื่นๆก็เช่นกันที่จะมีการแบ่งตามรูปแบบนี้คือ million, ten million, hundred million แล้วจึงเปลี่ยนเป็น billion, ten billion, hundred billion และ trillion จึงจะเห็นได้ว่าตัวคูณที่ใช้มีเพียงสองตัวเท่านั้นคือ สิบ และ ร้อย ในระบบจำนวนนับของภาษาไทยเรานับจากหลักหน่วยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงหลักล้านแล้วจึงใช้จำนวนนับตั้งแต่หลักหน่วยจนถึงหลักล้านมาเป็นตัวคูณอีกทีหนึ่ง จึงเปรียบเสมือนการไล่นับจากหลักหน่วยขึ้นไปจนถึงหลักล้าน (หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน) แล้วเอาตัวเลขที่ใช้นับไปแล้วนั้นมาเป็นตัวคูณอีกรอบ (สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ล้านล้าน)


ในทิศทางการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมักพบปัญหาการแปลตัวเลขจำนวนที่มีตัวคูณบางตัว (ten thousand, hundred thousand, ten billion, hundred billion) เพราะเป็นจำนวนที่ล่ามต้องคิดวิเคราะห์เพิ่มก่อนจะแปลได้ ในขณะที่ตัวเลขจำนวนบางตัวสามารถจับคู่คำแล้วแปลได้เลย เช่น ten billion ไม่สามารถจับคู่คำแล้วแปลว่า สิบพันล้าน ได้ ก่อนแปลล่ามต้องวิเคราะห์ว่าพันล้านคูณสิบคือหมื่นล้าน แต่ ten million สามารถจับคู่คำแล้วแปลว่า สิบล้าน ได้เลย การที่ต้องคิดวิเคราะห์เพิ่มทำให้เกิดภาระทางปัญญา (cognitive load) เพิ่มสำหรับล่ามในขณะแปลตัวเลขนั้น จึงมักพบว่าล่ามมีปัญหาในการแปลตัวเลขจำนวนที่มีตัวคูณและไม่สามารถจับคู่คำได้มากกว่าการแปลตัวเลขจำนวนที่สามารถจับคู่คำออกมาเป็นคำแปลได้เลย


ในทิศทางการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษมักพบปัญหาในทำนองเดียวกันแต่เป็นปัญหาที่เกิดกับตัวเลขต่างจำนวนกับในการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ตัวเลขจำนวนที่มักพบปัญหาในการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษคือ หมื่นล้าน และ แสนล้าน ซึ่งมักมีการแปลผิดเป็น ten thousand million กับ hundred thousand million เนื่องจากไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์เพิ่มว่าหมื่นล้านคือพันล้านคูณสิบจึงต้องแปลว่า ten billion และแสนล้านคือพันล้านคูณร้อยจึงต้องแปลว่า hundred billion


ตัวเลขจำนวนเป็นเนื้อหาที่มักปรากฎปะปนอยู่กับเนื้อหาอื่นๆ สำหรับเนื้อหาทั่วไปเราจะสามารถใช้บริบทในการช่วยตีความได้ค่อนข้างมาก แม้เราไม่ทราบความหมายของคำบางคำหรือฟังข้อความบางส่วนไม่ทันเรายังอาจใช้เนื้อหาในส่วนอื่นๆช่วยวิเคราะห์ความหมายของข้อความโดยรวมได้ แต่สำหรับตัวเลขจำนวนเราไม่สามารถประมวลความหมายจากบริบทได้ (Gile, 1999; Braun & Clarici, 1996) เราจะวิเคราะห์ความหมายของจำนวนได้ก็จากจำนวนนั้นเป็นหลัก และตัวเลขจำนวนเป็นเนื้อหาที่มีความหนาแน่นของความหมายสูง (Alessandrini, 1990) (มีความซับซ้อนต้องวิเคราะห์หลายขั้นตอน) สาเหตุหลักของปัญหาในการแปลตัวเลขจำนวนคือเราปฏิบัติต่อตัวเลขจำนวนในวิธีเดียวกันกับที่เราปฏิบัติต่อเนื้อหาส่วนอื่น หากเราตระหนักว่าวิธีการที่ใช้วิเคราะห์เนื้อหาโดยทั่วไปจะไม่สามารถใช้ได้ผลดีกับการวิเคราะห์ตัวเลขจำนวน และหากเรากำหนดกลยุทธ์ในการวิเคราะห์ตัวเลขจำนวนไว้ให้ดีพร้อมฝึกฝนให้คล่องเราอาจแก้ปัญหานี้ได้


การแปลตัวเลขจำนวนให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่ล่ามทุกคนควรทำให้ได้เพราะเนื้อหาในต้นฉบับที่แปลมักมีตัวเลขแทรกอยู่เสมอ หากเราสามารถแปลเนื้อความส่วนอื่นๆได้ดีแต่มีปัญหาทุกครั้งที่แปลตัวเลขจำนวนคุณภาพในการแปลของเราจะไม่สม่ำเสมอ ล่ามที่ต้องการพัฒนาความสามารถในการแปลของตนให้ดียิ่งขึ้นไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการแปลตัวเลขจำนวน


Alessandrini, M.S. (1990). Translating numbers in consecutive interpretation: an experimental

study. The Interpreters’ Newsletter, 3(0), 77-80.


Braun, S. & Clarici, A. (1996). Inaccuracy for numerals in simultaneous interpretation: an

experimental study. The Interpreters’ Newsletter, 7(0), 85-102.


Gile, D. (1999). Testing the Effort Model’s tightrope hypothesis in simultaneous interpreting-a

contribution. Hermes, 12 (23), 153-172.



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

 
 
 

Comments


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page