ข้อมูลที่ล่ามใช้เพื่อตีความอาจแบ่งได้เป็นกลุ่มข้อมูลเก่ากับข้อมูลใหม่ในลักษณะที่ว่าข้อมูลเก่าคือข้อมูลที่ล่ามได้วิเคราะห์จนเกิดความเข้าใจแล้ว และข้อมูลใหม่คือข้อมูลที่ล่ามเพิ่งรับมา ยังไม่ได้วิเคราะห์หรือนำมาเก็บรวมกับข้อมูลเก่า ข้อมูลมีความจำเป็นมากสำหรับการทำงานของล่ามเพราะข้อมูลเป็นเครื่องมือที่ล่ามจะใช้ร่วมกับตรรกะของตนเพื่อวิเคราะห์หาความหมายของสิ่งที่ผู้พูดต้นฉบับพูด ในการแปลแบบล่ามเราอาจแบ่งเวลาที่ล่ามใช้ข้อมูลได้เป็นสองช่วง
1. ช่วงเตรียมตัว เป็นช่วงที่เกิดขึ้นก่อนการแปลจริง ในเวลานี้ล่ามจะเตรียมศึกษาข้อมูลด้านภาษาและข้อมูลด้านเนื้อหาที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการแปล เนื่องจากการการเตรียมตัวแปลแบบล่ามเป็นการเตรียมสำหรับสิ่งที่จะเกิดในอนาคตซึ่งเราไม่ทราบแน่นอนว่าจะเกิดอย่างไร เราจึงต้องรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ต้นฉบับในช่วงแปล โดยอาจหาข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ เช่นพจนานุกรม สารานุกรม และบทความในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อาจนำข้อมูลที่เตรียมไว้มาจัดทำเป็นอภิธานเพื่อให้ง่ายในการค้นหาศัพท์ทางวิชาการหรือชื่อเฉพาะ เตรียมชื่อตำแหน่ง ยศของบุคคล และชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ในทั้งสองภาษาเพื่อให้ง่ายต่อการนำมาใช้ได้ทันที
2. ช่วงแปล เป็นช่วงที่ล่ามรับข้อมูลใหม่เข้ามาด้วยการฟังสิ่งที่ผู้พูดกล่าวแล้วจึงนำข้อมูลเก่าที่ตนมีอยู่มาวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ด้วยเหตุและผลจนเกิดเป็นความเข้าใจ เมื่อล่ามวิเคราะห์ข้อมูลสำเร็จจนเกิดความเข้าใจข้อมูลใหม่จะกลายเป็นข้อมูลเก่าและขนาดของข้อมูล(พื้นความรู้)ที่ล่ามมีในหัวข้อนั้นก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาผ่านกระบวนการวิเคราะห์จนเกิดความเข้าใจล่ามจะสะสมข้อมูลในเรื่องนั้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ และมีพื้นความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลที่อาจพบในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนั้น ในช่วงพูดคำแปลล่ามต้องใช้ข้อมูลเช่นกันโดยพิจารณาความหมายนามธรรมที่ได้นำไปเก็บไว้ในความจำและนำไปจดบันทึกไว้ ต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนรูปความเข้าใจนามธรรมให้เป็นรูปธรรมเพื่อสื่อสารออกไปเป็นคำแปลได้อย่างไร โดยเลือกคำและโครงสร้างภาษาปลายทางที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ฟังคำแปลมีความเข้าใจเหมือนกับฟังต้นฉบับโดยตรง
หลังตีความสำเร็จและเกิดความเข้าใจเนื้อหาที่ฟัง ความเข้าใจอันเป็นนามธรรมนั้นเป็นข้อมูลที่ล่ามต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อนำมาใช้อีกครั้งในช่วงพูดคำแปล โดยล่ามอาจเก็บข้อมูลไว้ได้สองแห่ง แห่งหนึ่งคือจัดเก็บแบบนามธรรมไว้ในสมองของตน (จำไว้) อีกแห่งคือเก็บแบบรูปธรรมโดยเขียนบันทึกไว้ (จดไว้)
แผนภูมิ 1 การจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการตีความ
ข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับจำคือข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นภาพรวม ส่วนข้อมูลที่เหมาะสำหรับจดคือข้อมูลที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย เมื่อตีความสำเร็จจนได้ข้อมูลมาแล้วล่ามต้องตัดสินใจว่าจะนำข้อมูลไปบันทึกไว้ที่ใด บันทึกไว้ในสมอง (จำ) หรือบันทึกโดยเขียนไว้ (จด) การเลือกเช่นนี้ไม่ใช่การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทิ้งอีกอย่างไปเลย แต่เป็นการเลือกที่เก็บข้อมูลตามลักษณะข้อมูล ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการแปลสูงสุด โดยจะต้องใช้แหล่งเก็บทั้งสองแหล่งควบคู่กันไป ในการแปลต้นฉบับที่ซับซ้อนล่ามไม่สามารถใช้วิธีจำข้อมูลได้อย่างเดียว(เพราะจำได้ไม่หมด) และไม่สามารถใช้วิธีจดข้อมูลได้อย่างเดียว(เพราะจดไม่ทันและจะทำให้เสียสมาธิในการฟัง) จึงมีความจำเป็นต้องใช้แหล่งเก็บทั้งสองควบคู่กันไป และใช้ให้ประสานสอดคล้องกัน
ความจำ
ด้วยธรรมชาติของความจำที่คนเราจะจำข้อมูลที่ใช้บ่อยได้ดีกว่าจำข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ ล่ามจึงต้องบริหารจัดการความจำของตนเพื่อให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่ต้องการได้อย่างทันท่วงที ได้มีการแบ่งความจำออกเป็นสามแบบ (Cowan, 2008) คือ
1. ความจำระยะสั้น (short term memory) มีความสามารถจำกัดในการเก็บกักข้อมูล ข้อมูลในความจำกลุ่มนี้จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว
2. ความจำระยะยาว (long term memory) สามารถเก็บข้อมูลปริมาณมากกว่าได้คงทนกว่า
3. ความจำใช้งาน (working memory) เป็นที่เก็บข้อมูลซึ่งพร้อมนำมาใช้งานได้ทันที
ในการทำงานแปลล่ามต้องใช้ความจำทั้งสามแบบ โดยหลักการสำคัญคือการย้ายความจำ(ข้อมูล)มาอยู่ในที่ที่พร้อมจะเรียกใช้ได้ทันที เราอาจมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะแปลเก็บอยู่ในความจำระยะยาวของเรา ข้อมูลนั้นอาจเป็นสิ่งที่เราเคยเรียนรู้เมื่อนานมาแล้ว ปัจจุบันเราอาจยังมีความเข้าใจในเรื่องนั้นอยู่ แต่หากต้องแจกแจงรายละเอียดเราจะต้องใช้เวลานึกพอสมควรจึงจะเรียกข้อมูลนั้นกลับมาได้ ข้อมูลที่เก็บอยู่ลึกแบบนี้ไม่มีประโยชน์นักสำหรับการแปลแบบล่ามเพราะไม่สามารถเรียกใช้ได้ทันการ ล่ามจึงต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำงานแปลด้วยการทบทวนข้อมูลเดิม(ทั้งด้านภาษาและเนื้อหา)ที่ตนมีอยู่และแสวงหาข้อมูลใหม่เพื่อมาเติมเต็มต่อยอดขึ้นจากข้อมูลเดิม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้อมูลเป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ซึ่งจะทำให้เกิดการตีความ และข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ขณะแปลต้องเป็นข้อมูลที่พร้อมใช้ด้วย ก่อนทำงานแปลล่ามจึงต้องทบทวนข้อมูลที่คาดว่าจะใช้ในการแปล เพื่อให้ข้อมูลนั้นมาอยู่ในความจำระยะสั้นหรือความจำใช้งาน(บางตำราบอกว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน)ซึ่งจะทำให้สามารถเรียกใช้ได้รวดเร็วกว่า
ในขั้นตอนการแปลเมื่อตีความจนสามารถเข้าใจความหมายได้แล้ว ล่ามอาจเลือกเก็บความเข้าใจ(ข้อมูลที่เป็นความหมาย)ไว้ในความจำใช้งานของตน หรือเลือกจดบันทึกความเข้าใจ(ข้อมูลที่เป็นความหมาย)นั้นไว้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นข้อมูลลักษณะใด เพื่อรอนำข้อมูลนั้นกลับมาใช้งานอีกครั้งตอนพูดคำแปล
การจดบันทึก
เราใช้การจดบันทึกสำหรับเก็บความเข้าใจ(ข้อมูลที่เป็นความหมาย)ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งหากจะเก็บไว้ในความจำจะทำให้เกิดภาระทางปัญญามากเกินไป และไม่คุ้มค่าที่จะจำ หากจดไว้จะมีประสิทธิภาพกว่า ข้อมูลลักษณะนี้อาจเป็นชื่อเฉพาะ ตัวเลข หรือเนื้อหาอื่นที่มีความจำเพาะ ซึ่งหากไม่จดไว้จะผิดพลาดได้ง่าย วิธีการจดที่มีประสิทธิภาพคือการจดให้น้อยแต่ครอบคลุมให้มาก ซึ่งอาจทำได้ด้วยการใช้สัญลักษณ์ ตัวย่อ และแผนภูมิ การจดแบบใช้คำบรรยายความเป็นการจดที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะใช้เวลานานและทำให้เกิดภาระทางปัญญาสูง ในสถานการณ์ที่ต้องแบ่งสมาธิเพื่อทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน(multitasking) สุดท้ายแล้วผู้แปลมือใหม่มักใช้สมาธิไปกับการจดมากเกินไปจนไม่ได้คิดตีความและไม่ได้ฟังผู้พูด ทำให้ไม่สามารถแปลได้อย่างต่อเนื่อง เนื้อความในคำแปลขาดหายไปเป็นช่วง ๆ มีลักษณะ “ฟันหลอ”
การจดบันทึกในการแปลแบบล่ามไม่เหมือนการจดบันทึกในชีวิตประจำวันหรือการจดบันทึกคำบรรยายของอาจารย์ในชั้นเรียน วัตถุประสงค์ของการจดบันทึกคือเพื่อเก็บข้อมูลไว้และนำไปใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ บันทึกที่ดีคือบันทึกที่สื่อข้อมูลได้ครบถ้วนกับใช้เวลาและสมาธิในการจดน้อยที่สุด บันทึกลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องสวยงาม สะกดถูก เขียนถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนชวเลขหรือระบบการใช้สัญลักษณ์อื่น ๆ เพื่อการจดบันทึก แต่สามารถคิดพัฒนาระบบของตนเองขึ้นมาได้โดยอาจปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ขณะเรียนตามความถนัดของตน และไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะอ่านบันทึกของตนไม่รู้เรื่องเพราะวัตถุประสงค์ของการจดคือเพื่อให้ตัวเองอ่านในระยะเวลาอันสั้นหลังจากจดแล้ว
การจดบันทึกที่ใช้กันแพร่หลายในการแปลแบบล่ามพูดตามคือการจดแบบ ประธาน-กริยา-กรรม (s-v-o) กับการจดแบบแผนภูมิ โดยการจดแบบ ประธาน-กริยา-กรรม จะมีลักษณะที่ล้อไปกับโครงสร้างภาษาต้นฉบับในขณะที่การจดแบบแผนภูมิจะให้อิสระในการเชื่อมโยงเนื้อหาส่วนต่าง ๆ มากกว่า
การจดบันทึกแบบ ประธาน-กริยา-กรรม เป็นการจดบันทึกตามโครงสร้างของภาษาที่รูปประโยคหลักประกอบด้วย ประธาน กริยา กรรม แล้วหากมีส่วนขยายจะนำมาแทรกเข้าในโครงสร้างหลักนี้ เช่นภาษาอังกฤษ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ที่โครงสร้างประโยคประกอบด้วยประธาน(subj. – the government) กริยา(v. – implemented) และกรรม(obj. – a relief scheme)
แผนภูมิ 2 โครงสร้างประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม
ในประโยคที่มีโครงสร้างลักษณะนี้ หากมีส่วนขยาย เช่นคำคุณศัพท์หรือวลีที่ขยายความก็จะนำมาแทรกไว้ภายในโครงสร้างของประโยค
แผนภูมิ 3 โครงสร้างประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม และส่วนขยาย
เมื่อล่ามฟังผู้พูดพูดประโยคด้านบน ล่ามอาจนำโครงสร้างและเนื้อหาของประโยคมาถ่ายทอดเป็นบันทึกได้ในลักษณะต่อไปนี้
แผนภูมิ 4 การจดบันทึกแบบ ประธาน-กริยา-กรรม
ซึ่งมีการแยกใจความออกเป็นหนึ่งกล่องข้อความต่อหนึ่งใจความ ภายในแต่ละกล่องข้อความประกอบไปด้วยโครงสร้างประโยคที่มี ประธาน กริยา กรรม ที่เชื่อมโยงกันด้วยเส้นเฉียงจากซ้ายไปขวาตามธรรมชาติการมองของสายตาเมื่ออ่านข้อความ โดยจดข้อความที่เป็นส่วนขยายไว้ที่เส้นนี้ และเขียนความสัมพันธ์ระหว่างข้อความในกล่องปัจจุบันกับข้อความในกล่องก่อนหน้า(ถ้ามี)ไว้มุมบนซ้าย ตัวอย่างด้านบนเป็นตัวอย่างที่เขียนคำอย่างครบถ้วนเพื่อความชัดเจน ในการทำงานจริงไม่ควรเสียเวลาเขียนคำให้มีตัวสะกดถูกต้อง ชัดเจน หรือครบถ้วน แต่ควรเขียนให้รวดเร็ว รัดกุม และมีประสิทธิภาพ โดยใช้ตัวย่อและสัญลักษณ์ที่ผู้เรียนแต่ละคนอาจค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบการจดบันทึกเฉพาะตัวก็ได้ คำแปลที่ได้จากการจดบันทึกลักษณะนี้จะเป็นคำแปลที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับโครงสร้างภาษาต้นทาง เช่นหากแปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทยจะได้โครงสร้างคำแปลภาษาไทยที่ล้อกับโครงสร้างภาษาอังกฤษในต้นฉบับ
การจดบันทึกแบบแผนภูมิคือการที่ผู้จดตีความและประเมินความสำคัญของข้อมูลแต่ละส่วนแล้วนำมาเขียนในลักษณะแผนภูมิเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลส่วนต่าง ๆ ได้ชัดเจน เมื่อพูดคำแปล ล่ามมีอิสระมากขึ้นที่จะคิดโครงสร้างประโยคภาษาปลายทางที่จะสื่อความหมายได้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างภาษาต้นทางมากเท่ากับการจดบันทึกแบบ ประธาน-กรรม-กริยา ด้านล่างคือตัวอย่างการจดบันทึกแบบแผนภูมิที่มีการใช้ตัวย่อและสัญลักษณ์ประกอบด้วย
แผนภูมิ 7 การจดบันทึกแบบแผนภูมิโดยใช้ตัวย่อและสัญลักษณ์ประกอบ
การจดบันทึกแบบแผนภูมิบังคับให้ผู้จดต้องตีความเนื้อหาในระดับหนึ่งก่อนจึงจะสามารถจดได้ จึงสร้างภาระทางปัญญา (cognitive load) เพิ่มสำหรับช่วงแรกของการแปลแบบล่ามพูดตาม ที่ล่ามฟังต้นฉบับ แต่จะให้ภาพที่ชัดเจนว่าข้อความส่วนต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมีโอกาสที่ล่ามจะได้รับอิทธิพลของภาษาต้นทาง (source language interference) ได้น้อยกว่าการจดแบบ s-v-o ข้อความที่แสดงในตัวอย่างด้านบนเป็นข้อความภาษาอังกฤษเพื่อความชัดเจนในการอธิบายความ แต่เมื่อปฏิบัติจริงผู้เรียนสามารถจดได้ทั้งในภาษาต้นทางและภาษาปลายทาง ข้อดีของการจดในภาษาต้นทางคือไม่เพิ่มภาระทางปัญญาให้ต้องคิดคำในภาษาปลายทางขณะจด(ช่วงแรก) แต่เมื่อไปถึงช่วงพูดคำแปล(ช่วงหลัง)ก็จะทำให้เกิดภาระทางปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะต้องคิดหาคำในภาษาปลายทางมาสื่อความหมาย ในการนี้ล่ามอาจพิจารณาภาระทางปัญญาที่เกิดขึ้นในทั้งสองช่วงในบริบทของการแปลครั้งนั้น แล้วชั่งน้ำหนักให้สมดุลว่าจะจดเป็นภาษาต้นทางหรือปลายทาง หากยังไม่แน่ใจอาจจดเป็นทั้งสองภาษาสลับกันไป แล้วแต่ว่าจะคิดภาษาอะไรได้ก่อน หรืออาจใช้รูปวาดหรือสัญลักษณ์ที่ไม่ใช่ทั้งภาษาต้นทางและปลายทางแต่มีประสิทธิภาพในการสื่อความหมายได้ดี
เอกสารอ้างอิง
Cowan N. (2008). What are the differences between long-term, short-term, and working
memory?. Progress in brain research, 169, 323–338.
เกี่ยวกับผู้เขียน
ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม
Kommentare