การแปลแบบล่ามพูดตาม (consecutive interpretation) คือการแปลแบบที่ล่ามรอให้ผู้พูดต้นฉบับพูดข้อความของตนให้จบตอนเสียก่อนแล้วล่ามจึงพูดคำแปล โดยผู้พูดต้นฉบับอาจแบ่งข้อความของตนออกเป็นช่วงสั้นๆและเว้นให้ล่ามได้แปลเป็นระยะๆ ในโรงเรียนล่ามจะเรียกการแปลแบบนี้ว่า short consecutive แต่หากผู้พูดต้นฉบับพูดต่อเนื่องเป็นเวลา 10 หรือ 15 นาที หรือพูดจนจบแล้วให้ล่ามแปลทีเดียวตอนท้าย เราจะเรียกการแปลชนิดนี้ว่า long consecutive ในอดีตโรงเรียนล่ามมักเริ่มการสอนด้วยวิชาการแปลแบบล่ามพูดตาม และจะอนุญาตให้ผู้เรียนเลื่อนขั้นไปเรียนการแปลแบบล่ามพูดพร้อมได้ก็ต่อเมื่อสามารถแปลแบบล่ามพูดตามได้คล่องแล้วเท่านั้นเนื่องจากมีความเขื่อว่าทักษะการแปลแบบล่ามพูดตามจะเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาทักษะการแปลแบบล่ามพูดพร้อมต่อไป
ในปัจจุบันหลายคนออกมาตั้งคำถามกับแนวปฏิบัตินี้ มีความสงสัยว่าการแปลแบบล่ามพูดตามกับการแปลแบบล่ามพูดพร้อมใช้ทักษะอย่างเดียวกันแน่หรือ หลายคนเข้าใจว่าการแปลแบบล่ามพูดตามเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการแปลแบบล่ามพูดพร้อมจึงคิดว่าควรเริ่มจากการแปลแบบล่ามพูดตามก่อน
หลักการในการแปลแบบล่ามคือการถ่ายทอดความหมายเข่นเดียวกับในการแปลเอกสาร ความต่างอยู่ที่วิธีรับ-ส่งสารและเวลา ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมเวลามีบทบาทสำคัญมาก โดยล่ามจะต้องฟัง-คิด-พูดอย่างต่อเนื่องในเวลาที่ตนไม่ได้กำหนดเอง (ตามความเร็วของผู้พูดต้นฉบับ) ข้อกำหนดนี้ทำให้หลายคนคิดว่าการแปลแบบล่ามพูดตามมีความง่ายกว่าการแปลแบบล่ามพูดพร้อม แต่จากการสอนล่ามมา 20 กว่าปีผู้เขียนพบว่าทักษะการแปลให้ทันเป็นทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกได้ ในตอนเริ่มฝึกผู้เรียนจะแปลไม่ทันเพราะไม่เคยชินกับการต้องฟังและพูดไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่เมื่อฝึกไปนานวันจะสามารถฟังและพูดพร้อมกันได้ในข่วงระยะที่ยาวขึ้น จนในที่สุดสามารถฟัง-คิด-พูดไปพร้อมกันได้อย่างต่อเนื่อง เราจึงไม่ควรกังวลเรื่องพูดไม่ทันแต่ควรกังวลเรื่องพูดไม่ถูกมากกว่า
ทักษะสำคัญในการแปลแบบล่ามพูดตามคือทักษะการสังเคราะห์ข้อมูล เมื่อล่ามฟังต้นฉบับและจดบันทึกจะไม่ได้จดแบบทุกคำพูด (verbatim) แต่จะตีความให้เกิดความเข้าใจก่อนจึงค่อยจด และจะจัดเรียงข้อมูลในการนำเสนอเพื่อให้เกิดความชัดเจนเข้าใจง่าย นั่นหมายความว่าอาจต้องย้ายตำแหน่งคำหรือเปลี่ยนรูปประโยคเพื่อสื่อสารให้ชัดเจนที่สุดในภาษาปลายทาง
ทักษะสำคัญในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมคือทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้ร่วมกับการคาดการณ์ (anticipation) เนื่องจากล่ามพูดพร้อมต้องพูดคำแปลจากข้อความต้นฉบับที่ยังไม่สมบรูณ์ (เพราะผู้พูดยังพูดไม่จบ) ล่ามที่มีประสบการณ์จะพิจารณาบริบทและคิดล่วงหน้าได้ไม่ยากว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อไป
จะเห็นว่าการแปลแบบล่ามพูดตามกับการแปลแบบล่ามพูดพร้อมเป็นการฝึกทักษะที่ต่างกัน ความคิดที่ว่าการแปลแบบไหนยากกว่าอีกแบบน่าจะเกิดจากความโน้มเอียงส่วนตัว ผู้ที่จะแปลแบบล่ามพูดตามได้ดีคือผู้ที่มีความสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่าชัดเจนและสื่อสารได้กระชับ ส่วนผู้ที่จะแปลแบบล่ามพูดพร้อมได้ดีคือผู้ที่คิดเร็วทำเร็ว การแปลแบบล่ามเป็นทักษะที่ควรฝึกต่อยอดมาจากทักษะทางภาษา ผู้สนใจจะเรียนวิชาการแปลแบบล่ามควรมีทักษะภาษาต้นทางและทักษะภาษาปลายทางที่ดีเสียก่อน รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมที่ใช้ภาษานั้นด้วย
เกี่ยวกับผู้เขียน
ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม
Comentarios