top of page
Search

การตีความคือการวิเคราะห์ข้อมูล

Writer: Sasee  Chanprapun Sasee Chanprapun

เนื่องจากการแปลเป็นการถ่ายทอดความหมาย หัวใจของกระบวนการคือการตีความ หรือการแยกความหมายออกมาจากองค์ประกอบทางภาษาที่ห่อหุ้มความหมายนั้นไว้ เราอาจมองว่าส่วนที่เป็นรูปธรรมของการสื่อสาร (คำ โครงสร้าง เสียง ฯลฯ) เป็นสิ่งห่อหุ้มหรือเป็นพาหะที่จะนำความหมายจากผู้พูดไปยังผู้ฟัง หน้าที่ของรูปธรรมในส่วนนี้คือการนำพา เมื่อเรารับข้อความมา ไม่ว่าจะด้วยการอ่านหรือการฟัง ข้อความนั้นจะเดินทางมาโดยบรรจุอยู่ในหีบห่อที่เป็นรูปธรรม ในตอนแรกที่รับหีบห่อมาเราไม่ทราบว่ามีอะไรบรรจุอยู่ภายใน แต่เราสามารถใช้ข้อมูลเดิมที่เรามีประกอบการคิดวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความเข้าใจข้อความนั้น หากเราประสบความสำเร็จในการคิดวิเคราะห์จนเกิดความเข้าใจเท่ากับว่าเราสามารถแกะบรรจุภัณฑ์ออกได้อย่างหมดจด เหลือเพียงความหมายซึ่งเป็นเนื้อใน แต่หากเราแกะบรรจุภัณฑ์ไม่เรียบร้อย (อาจเพราะเครื่องมือไม่ดี-ข้อมูลไม่พอ หรือขาดทักษะการคิดวิเคราะห์) เนื้อในที่เราได้ก็จะขาดความสมบูรณ์และมีความผิดเพี้ยนไปจากเดิมเมื่อนำไปถ่ายทอดต่อ


การตีความคือการพิจารณาต้นฉบับเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เป็นการแยกส่วนที่เป็นนามธรรมของภาษาออกจากส่วนที่เป็นรูปธรรมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล โดยอาจแบ่งข้อมูลที่ใช้ออกเป็นสองกลุ่ม(Seleskovitch, 1978)คือ


1. ข้อมูลด้านภาษา เช่นข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของคำ โครงสร้างประโยค การออกเสียง

2. ข้อมูลด้านเนื้อหา เช่นข้อมูลทางสังคม ภูมิศาสตร์ หรือสาขาวิชาที่ผู้พูดกล่าวถึง


หากเปรียบการตีความเป็นการถอดรหัส เครื่องมือที่ใช้ถอดรหัสคือข้อมูลและระบบปฏิบัติการที่ควบคุมการใช้เครื่องมือนั้นคือการคิดวิเคราะห์ของผู้แปล ความคิดที่ว่าแค่รู้ภาษาแล้วจะแปลได้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการแปลคือการถ่ายทอดข้ามภาษาและวัฒนธรรมซึ่งต้องใช้ทักษะอื่นนอกเหนือไปจากความสามารถทางภาษาเพียงอย่างเดียว ข้อมูลที่ล่ามใช้ในการตีความ (ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านภาษาหรือเนื้อหา) ยังอาจแบ่งได้เป็น


1. ข้อมูลเก่า คือข้อมูลที่ล่ามรู้อยู่เดิม อาจเป็นข้อมูลที่รู้มานานแล้วหรือเป็นข้อมูลที่เพิ่งไปค้นหามาเพื่อ เตรียมตัวแปลก็ได้

2. ข้อมูลใหม่ คือข้อมูลที่ล่ามรับฟังขณะแปลและนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเก่า


เราอาจพิจารณามิติของข้อมูลที่ใช้ในการตีความได้ดังแผนภูมิต่อไปนี้



แผนภูมิ 1 ข้อมูลที่ใช้ในการตีความ


กระบวนการตีความเริ่มขึ้นเมื่อล่ามรับฟังต้นฉบับและนำข้อมูลใหม่ที่ได้ยินขณะนั้นมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเดิมที่ตนมีอยู่หรือเตรียมมา ในสถานการณ์นี้สิ่งที่ล่ามควบคุมได้คือข้อมูลเก่าที่ตนมี สิ่งที่ล่ามควบคุมไม่ได้คือข้อมูลใหม่ที่ผู้พูดนำเสนอ ด้วยเหตุนี้การเตรียมตัวด้วยการหาข้อมูล (ทั้งด้านภาษาและเนื้อหา) ล่วงหน้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถตีความได้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ฉับไวและทันการก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการแปล การรับข้อมูลใหม่เข้ามาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มต่อยอดขึ้นมาจากความเข้าใจเดิม หากวิเคราะห์สำเร็จข้อมูลใหม่จะสามารถประสานกับข้อมูลเดิมเกิดเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในเนื้อหานั้น ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นข้อมูลเก่าที่ล่ามจะสามารถนำมาใช้รองรับการวิเคราะห์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อ ๆ ไปด้วย หมายความว่ายิ่งเรามีข้อมูล(ทั้งด้านภาษาและเนื้อหา)เกี่ยวกับเรื่องที่แปลมากเท่าไร โอกาสที่จะแปลได้สำเร็จจะมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะมีพื้นฐาน(ข้อมูลเก่า)ที่มั่นคงยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ กระบวนการตีความจึงเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องที่ล่ามจะนำข้อมูลใหม่มาวิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อมูลเก่าให้เกิดความเข้าใจตลอดเวลา


เมื่อเข้าใจแล้วข้อมูลใหม่นั้นจะไปอยู่รวมกับข้อมูลเก่า(กว่า)กลายเป็นความเข้าใจที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่องในเนื้อหาที่รับฟัง ดังแผนภูมิด้านล่าง และเป็นอย่างนี้ไปตลอดกระบวนการแปล



แผนภูมิ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลในการตีความ


ในแง่นี้เราจึงอาจกล่าวได้ว่าการตีความเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเก็บสะสมไว้ แล้วนำมาวิเคราะห์อีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ฐานข้อมูลของผู้สะสมมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีประโยชน์ใช้งานเพิ่มขึ้นตามขนาด


เอกสารอ้างอิง


Seleskovitch, D. (1978). Interpreting for International Conferences. (Eric Norman McMillan & Stephanie Dailey, Trans.). Washington DC: Pen & Booth.


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

 
 
 

Comments


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page