top of page
Search
Writer's pictureSasee Chanprapun

M.A. in Interpretation at Chula#ล่าม #ล่ามการประชุม #เรียนล่าม

Updated: Apr 22, 2022

ในประเทศไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเดียวที่เปิดสอนการแปลแบบล่ามในระดับปริญญาโท แม้จะสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยแต่หลักการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคู่ภาษา โครงการนี้เหมาะสำหรับผู้คิดจะประกอบวิชาชีพล่ามอย่างจริงจัง โดยจะได้เรียนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานเช่นการวิเคราะห์ภาษา การทำวิจัย ทฤษฎีการแปลแบบล่าม ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงการแแปลแบบล่ามพูดตามและการแปลแบบล่ามพูดพร้อม จากอังกฤษเป็นไทยและจากไทยเป็นอังกฤษ หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเดียวในโลกที่สอนการแปลแบบล่ามในคู่ภาษาไทย-อังกฤษโดยเฉพาะ หากไปเรียนการแปลแบบล่ามที่ต่างประเทศจะต้องไปเรียนในคู่ภาษาอื่น


โครงการนี้เปิดสอนมาได้ประมาณ 12 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นการเข้าสู่อาชีพล่ามการประชุมเป็นเรื่องที่ยากมาก ล่ามส่วนมากได้มาทำอาชีพนี้เพราะมีคนที่เป็นล่ามอยู่แล้วชวนให้มาทำงานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งดีเพราะล่ามมือใหม่จะมีผู้ให้คำปรึกษา คอยดูแลในเรื่องการประกอบวิชาชีพได้ดี แต่สมัยนี้ตลาดขยายตัวขึ้น มีความต้องการใช้ล่ามมากขึ้น มีปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น ล่ามจึงเพิ่มจำนวน ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นไปด้วย สมัยนี้การที่เราเคยไปอยู่ต่างประเทศมา หรือเก่งภาษาต่างประเทศอาจไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะทำให้ยืนหยัดอยู่ในอาชีพล่ามได้ เพราะคนที่เคยอยู่เมืองนอกมา คนที่ภาษาดีนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เราควรลงทุนสร้างคุณสมบัติบางอย่างที่คนอื่นไม่มีเพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน






การแปลในการประชุมต้องใช้ทักษะที่ไม่ได้มีสอนในห้องเรียนภาษา เมื่อมาเรียนล่ามผู้จบปริญญาตรีในสายภาษาอาจมีข้อได้เปรียบที่มีความเข้าใจในแง่มุมต่างๆของภาษานั้นแล้วเป็นพื้นฐาน แต่ผู้เรียนจบสาขาวิชาอื่นจะมีข้อได้เปรียบด้านเนื้อหา การสอนในวิชาล่ามไม่ใช่การสอนภาษา แต่เป็นการสอนวิธีการแปลและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการแปล อาจารย์ที่สอนมีทั้งที่จบด้านภาษาและที่เรียนในสาขาอื่นมา เช่นเศรษฐศาสตร์และการแพทย์ ที่สำคัญคืออาจารย์ทุกคนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพล่าม จึงมีประสบการณ์และความเข้าใจแง่มุมต่างๆของการทำงานล่ามอย่างลึกซึ้ง


ปัจจุบันมีนิสิตจบการศึกษาไปจากหลักสูตรฯแล้วห้ารุ่น แม้ไม่ใช่ทุกคนจะออกไปประกอบอาชีพล่าม แต่ทุกคนที่ยึดอาชีพนี้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ การทำงานในตลาดที่มีการแข่งขันสูงไม่ใช่เรื่องง่าย การทำงานด้วยความซื่อตรงต่อวิชาชีพเป็นเรื่องยากกว่า การไม่กระทำการใดๆที่จะบั่นทอนศักดิ์ศรีของวิชาชีพเป็นเรื่องยากที่สุด เป็นที่น่าภูมิใจที่คณะอักษรศาสตร์สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพที่จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในวิชาชีพล่ามของประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2525 (รุ่น 50) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม


943 views0 comments

Comments


bottom of page