#simultaneousinterpreting #earvoicespan #ล่ามพูดพร้อม
การแปลล่ามพูดพร้อมเป็นการแปลที่ล่ามต้องฟังต้นฉบับและพูดคำแปลในขณะกำลังฟังเนื้อหาส่วนต่อไปอยู่ เป็นการแปลที่ต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multitasking) และเป็นการแปลที่ต้องตีความในขณะที่ข้อมูลยังไม่ครบ การทำหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกันนี้ทำให้เกิดภาระทางปัญญา (cognitive load) ที่สูงมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการเพื่อให้สามารถแปลได้ตลอดรอดฝั่ง
ear-voice-span (EVS) คือช่วงเวลาตั้งแต่เสียงของผู้พูดเข้าหูล่ามจนถึงเวลาที่ล่ามพูดคำแปลเนื้อหาส่วนนั้นออกมาในภาษาปลายทาง ในช่วงเวลานี้ล่ามต้องฟังต้นฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการฟังเพื่อตีความให้เกิดความเข้าใจ และพูดคำแปลออกไปในภาษาปลายทาง แต่ในระหว่างนั้นก็ต้องฟังต้นฉบับช่วงต่อไป และฟังเสียงของตนเองที่พูดคำแปลด้วย จะเห็นว่ามีหลายสิ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันทำให้ล่ามต้องเกลี่ยสมาธิให้ครอบคลุมการทำงานแต่ละส่วนให้ได้
นอกเหนือจากกาารแบ่งสมาธิออกเป็นส่วน ๆ เพื่อรับมือกับหน้าที่ (function) หลายอย่างที่ต้องทำในเวลาเดียวกันแล้ว ล่ามพูดพ้อมยังอาจรับมือกับสถานการณ์ด้วยการปรับระยะ EVS ด้วย หลักการปรับระยะ EVS คือการรักษาพื้นที่ในสมอง (capacity) ไว้ให้มีที่ว่างเพียงพอสำหรับการกักเก็บข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในขณะนั้น หากเปรียบสมองของเราเป็นภาชนะ เราอาจเปรียบได้ว่าข้อความที่รับฟังเพื่อนำมาแปลนั้นเป็นน้ำที่ไหลเข้ามาในภาชนะรอเวลานำไปเข้ากระบวนการต่อไป หากปล่อยเวลาไว้นานและไม่มีการจัดการกับน้ำหรือกระแสความคิดที่อยู่ในภาชนะ ย่อมมีน้ำไหลเข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง และในเวลาไม่นานภาชนะหรือสมองของเราย่อมมีน้ำเต็ม ไม่สามารถรับน้ำได้เพิ่มอีก น้ำที่ไหลเข้ามาหลังจากจุดนี้จึงล้นออกนอกภาชนะและเป็นกระแสความคิดที่ไม่ได้รับการดำเนินการ ไม่มีการนำเข้ากระบวนการวิเคราะห์ตีความ กลายเป็นเนื้อความที่ตกหล่นไปจากการแปล
การปรับความเร็วในการแปลสามารถช่วยรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลได้ ในกรณีที่ต้นฉบับพูดเร็วหรือพูดเนื้อหาที่มีความหมายแน่นมาก (dense) จะทำให้มีกระแสความคิดไหลเข้าสู่สมองล่ามในปริมาณมากด้วยความเร็วสูง สิ่งที่ต้องทำคือการเคลียร์พื้นที่ในสมองให้เร็วที่สุดเพื่อให้สามารถรองรับข้อมูลส่วนถัดมาได้ สิ่งสำคัญที่สุดในสถานการณ์นี้คือการตีความและพูดคำแปลออกไปโดยเร็วเพื่อให้สมองมีที่ว่างพอที่จะรับข้อมูลส่วนต่อไป แต่ในทางกลับกันหากต้นฉบับพูดไม่เร็วนักและเนื้อหาที่นำเสนอไม่มีความซับซ้อนมาก ล่ามอาจใช้ประโยชน์จากสถารการณ์นี้ด้วยการปรับ EVS ให้ยาวขึ้นเพื่อให้ตนมีเวลาวิเคราะห์ความหมายอย่างละเอียดและเลือกคำแปลที่มีประสิทธิผลที่สุดเช่นกัน
EVS คือระยะของการฟังต้นฉบับและพูดคำแปล หากใช้ EVS สั้นจะมีบริบทน้อยลงในการตีความ ซึ่งอาจทำให้ความแม่นยำในการแปลลดลง หากใช้ EVS ยาวล่ามจะมีเวลาคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นและมีข้อมูลประกอบการตีความมากขึ้น แต่ก็จะมีข้อมูลที่ต้องเก็บกับไว้ในสมองมากขึ้นเช่นกัน ไม่มีคำตอบตายตัวว่า EVS ระยะเท่าไรเป็นระยะที่เหมาะสม แต่การปรับ EVS เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
รศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) และเป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามการประชุมได้อีกช่องทางที่ https://www.youtube.com/channel/UCyQGlZJdFncGnnJw0fsLhFQ
ซื้อหนังสือการแปลแบบล่ามในการประชุมระหว่างประเทศได้ที่ https://thammasatpress.tu.ac.th/wp_tupress/product/66019/
コメント