#earvoicespan #การแปลแบบล่ามพูดพร้อม #cognitiveload
ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อม ear-voice-span (EVS) คือระยะเวลาระหว่างจุดเวลาที่ล่ามได้ยินข้อความต้นฉบับกับระยะเวลาที่ล่ามพูดคำแปลสำหรับข้อความนั้นออกมา อาจพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า EVS เป็นช่วงเวลาที่ล่ามใช้เพื่อตีความออกมาเป็นความหมายนามธรรมและประกอบความหมายเดิมเข้าไปใหม่ในภาษาปลายทางเพื่อสื่อสารกับผู้ฟังคำแปล
การแปลแบบล่ามพูดพร้อมเป็นการแปลที่ต้องใช้ความเร็วและต้องฟัง-คิด-พูดในเวลาเดียวกัน เมื่อต้นฉบับเริ่มพูดล่ามต้องฟังข้อความใหม่ที่เข้ามา แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องคิดวิเคราะห์หาความหมายของข้อความที่ฟังแล้วก่อนหน้านั้น และต้องพูดข้อความที่วิเคราะห์จนได้ความหมายแล้วก่อนที่จะวิเคราะห์ความหมายของข้อความเมื่อครู่ออกเป็นภาษาปลายทาง วนไปอย่างนี้เรื่อยๆเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง เชื่อกันว่าการแปลในลักษณะนี้ทำให้เกิดภาระทางปัญญา(cognitive load)สูง ล่ามจึงต้องบริหารจัดการทรัพยากรทางปัญญาของตนให้สมดุล เพื่อให้สามารถรับมือกับภาระทางปัญญาในแต่ละช่วงของการแปลได้
EVS เป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งในการบริหารจัดการภาระทางปัญญา ในการแปลหากมีการเว้นระยะนานไป (คือฟังนานและไม่พูดคำแปลออกมาเสียที) ภาระทางปัญญาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามปริมาณข้อมูลที่ยังไม่ได้แปล จนในที่สุดจะมีภาระทางปัญญาสูงกว่าทรัพยากรทางปัญญาที่มี ทำให้ไม่สามารถรับมือกับการแปลในส่วนนั้นได้ ในทางกลับกันหากสามารถแปลได้เร็วจะเป็นการควบคุมระดับภาระทางปัญญาที่ต้องแบกรับในหนึ่งช่วงเวลา เหมือนเป็นการสร้างพื้นที่ว่างในสมองเพื่อให้พร้อมรับมือกับข้อความใหม่ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่การแปลเร็วเกินไปก็มีข้อเสียตรงที่จะขาดบริบทในการตีความ นักแปลทุกคนทราบดีว่าเราไม่สามารถตีความคำที่ปรากฎอยู่นอกบริบทได้อย่างเต็มร้อย (แม้พจนานุกรมจะทำให้เรามีความเคยชินกับการจับคู่คำก็ตาม) ในการแปลแบบล่ามพูดพร้อมหากล่ามด่วนตัดสิน(ตีความ)ความหมายโดยยังฟังบริบทไม่ครบก็อาจทำให้แปลคลาดเคลื่อนได้
จะเห็นได้ว่าในการแปลแบบล่ามพูดพร้อม ภาระทางปัญญา(cognitive load)จะเพิ่มขึ้นตามการเว้นระยะในการพูดคำแปล(ear-voice-span) และตามปริมาณของบริบทที่สามารถนำไปใช้ประกอบการตีความ เมื่อเว้นช่วงนานก่อนที่จะพูดคำแปลจะมีข้อความไหลเข้ามาสะสมมากขึ้นในสมองทำให้เกิดภาระทางปัญญาเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีบริบทเพิ่มขึ้นซึ่งจะสามารถนำไปประกอบการตีความได้ดีขึ้น เมื่อเว้นช่วงEVSสั้นลงจะเป็นการบรรเทาภาระทางปัญญาแต่บริบทที่สามารถใช้ประกอบการวิเคราะห์ความหมายก็จะน้อยลงไปด้วย
สิ่งที่ล่ามพูดพร้อมต้องการคือการจำกัดภาระทางปัญญาไม่ให้เกินทรัพยากรทางปัญญาของตน(ทำได้ด้วยการแปลเร็ว-ช่วงEVSสั้น) และการเพิ่มบริบทแวดล้อมเพื่อประกอบการตีความ(ทำได้ด้วยการทิ้งช่วงการพูดคำแปลออกไปหน่อย-ช่วงEVSยาวขึ้น) แต่บังเอิญว่าทั้งสองแนวทางนี้อยู่ในขั้วที่ตรงข้ามกัน อีกทั้งความสามารถในการรองรับภาระทางปัญญา(cognitive capacity)ของแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน ดังนั้นสิ่งที่ล่ามควรทำคือการทดลองเพื่อหา "ความจุ" ของตัวเอง หรือหาระดับภาระทางปัญญาที่ตนสามารถรับมือได้สูงสุด แล้วนำมาบริหารจัดการเพื่อให้สามารถกำหนดEVSสูงสุดของตนที่จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งในด้านการควบคุมภาระทางปัญญาและการเพิ่มบริบทเพื่อตีความด้วย
เกี่ยวกับผู้เขียน
ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม
Comments