ความตกลง CEB-AIIC ทำขึ้นระหว่าง United Nations System Chief Executives Board for Coordination และ สมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) ด้วยเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่าง UN กับ AIIC และบทบาทของล่ามในการส่งเสริมความเป็นพหุภาษา อีกทั้งเห็นคุณค่าของการมีความตกลงระดับสถาบันเพื่อเป็นมาตรฐานร่วมกันในการจ้างงานระยะสั้นสำหรับล่ามการประชุม แม้ความตกลงฉบับนี้จะทำขึ้นระหว่าง UN กับ AIIC แต่ครอบคลุมการจ้างล่ามการประชุมทั้งหมดของหน่วยงาน UN (ซึ่งระบุไว้ใน Annex A และ Annex B) ทั้งที่เป็นสมาชิก AIIC และที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ความตกลงฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 โดยครอบคลุมการจ้างล่ามในการประชุมทั้งหมดของหน่วยงาน UN ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแปลในรูปแบบใดก็ตาม และคู่ความตกลงมีความผูกพันที่จะต้องสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความตกลงฉบับนี้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตาม ท่านสามารถอ่านเนื้อความฉบับเต็มของความตกลงนี้ได้ที่ https://www.unsystem.org/content/2019-ceb-aiic-agreement ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเนื้อหาเพียงบางประเด็นที่คนส่วนมากอาจสนใจ
เริ่มด้วยการติดต่อและเสนอว่าจ้างให้ทำงานซึ่งแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ firm offer กับ option หากเป็นงานที่ตกลงว่าจะมีการจัดแน่นอนจะมีการเสนอว่าจ้างทำงานแบบ firm offer และมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากรายละเอียดยังไม่ลงตัวอาจมีการติดต่อกันไว้ล่วงหน้าในลักษณะของ option ก่อน เมื่อมีความแน่นอนแล้วจึงเปลี่ยนเป็น firm offer ต่อไป สำหรับล่ามการรับ option หมายถึงการรับปากว่าจะทำงานนั้นแต่ยังไม่ผูกมัดเต็มที่เนื่องจากยังไม่ได้ทำสัญญา หากในระหว่างนั้นมีข้อเสนออื่น (competing offer) เข้ามา ล่ามสามารถสอบถามไปยังหน่วยงานที่เสนอ option มาว่างานนั้นยืนยันหรือไม่ และยังสามารถถอนตัวได้หากต้องการ
หน่วยงานของ UN มีอัตราค่าจ้างล่ามการประชุมที่กำหนดไว้ใน Annex E โดยแบ่งล่ามออกเป็นกลุ่ม I คือล่ามที่ผ่านการทำงานให้กับหน่วยงาน UN มาแล้วเป็นเวลา 200 วันขึ้นไป และกลุ่ม II คือล่ามที่เคยทำงานให้กับหน่วยงาน UN น้อยกว่านั้น ในความตกลงฉบับปัจจุบันกำหนดค่าจ้างสำหรับประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ไว้ไม่เท่ากัน แต่ของประเทศไทยใช้อัตรา world rate คือวันละ USD 630 สำหรับล่ามกลุ่ม I โดยล่ามกลุ่ม II จะได้ค่าจ้างร้อยละ 66.67 ของล่ามกลุ่มหนึ่ง หรือหนึ่งในสาม เมื่อล่ามกลุ่ม II ทำงานให้กับ UN ครบ 200 วันแล้วสามารถขอรับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม I ได้ แต่ความตกลงกำหนดว่าการจ้างงานล่ามกลุ่ม II ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนล่ามทั้งหมด
นอกจากจะมีค่าจ้างสำหรับวันทำงานแล้ว ความตกลงฉบับนี้ยังกำหนดไว้ว่าหากล่ามต้องเดินทางไปทำงานในสถานที่อื่นต่างจากถิ่นที่อยู่ (professional domicile) ของตน จะได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่งของวันทำงานในวันเดินทาง และหากการเดินทางใช้เวลาตั้งแต่ 14 ชั่วโมงขึ้นไปจะได้รับค่าจ้างเท่ากับหนึ่งวันทำงานในวันเดินทาง นอกจากนี้ความตกลงยังกำหนดว่าหากการเดินทางใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมง ให้มีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มทำงาน หากเป็นการบินในตอนกลางคืนที่ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ให้มีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนเริ่มงาน หากเป็นการบินในตอนกลางคืนที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า ให้เริ่มทำงานได้เฉพาะในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น
ในเรื่องสภาพการทำงาน สิ่งสำคัญที่กำหนดไว้ในความตกลงฉบับนี้คือห้ามใช้ล่ามน้อยกว่า 2 คนต่อภาษา ไม่ว่าจะในเวลาใดก็ตาม และหากบริบทของการประชุมมีความซับซ้อนกว่าปกติให้เพิ่มจำนวนล่ามต่อภาษาเป็น 3 คน หรือหากใช้ล่ามเพียง 2 คนก็ให้จ่ายค่าจ้างเป็นร้อยละ 160 ของค่าจ้างปกติ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ ให้เป็นอุปกรณ์ที่ตรงตามมาตรฐาน ISO
ความตกลง CEB-AIIC เป็นความตกลงที่กำหนดมาตรฐานในการทำงานและให้ความคุ้มครองล่ามการประชุมไว้อย่างครบถ้วน ล่ามทุกคนควรอ่านและทำความเข้าใจสาระของข้อตกลงเพื่อให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนได้ หากหน่วยงานของ UN ที่ตนทำงานด้วยไม่ทราบเรื่องข้อตกลงฉบับนี้ ล่ามควรแจ้งให้ทราบและขอให้หน่วยงานปฏิบัติตาม ไม่ว่างานนั้นจะได้รับการจ้างโดยตรงจากหน่วยงานหรือจ้างผ่าน agency หน่วยงาน ฯ มีหน้าที่ตรวจสอบตาม due diligence ว่าตัวหน่วยงานเอง agencyที่จัดหาล่ามให้ หรือหน่วยงานหุ้นส่วนที่รับเงินอุดหนุนจากตน ได้ปฏิบัติตามความตกลงที่ทำไว้ UN และ AIIC มีความร่วมมือกันมานับ 50 ปี ความตกลงฉบับนี้เกิดจากการเจรจาและเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย มีขึ้นเพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นธรรม แต่หากไม่นำมาบังคับใช้ก็คงเป็นเพียงเอกสารฉบับหนึ่งเท่านั้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม
Comments