top of page
Search
Writer's pictureSasee Chanprapun

โรงเรียนล่ามคืออะไร

Updated: Apr 18, 2022

#โรงเรียนล่าม


คำว่าโรงเรียนล่ามเป็นคำแปลโดยตรงจากคำว่า interpreting school ในภาษาอังกฤษ หมายถึงสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนวิชาการแปลแบบล่ามในระดับบัณฑิตศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะที่จะสามารถเป็นล่ามได้ในทุกรูปแบบการแปล ในคู่ภาษาที่ตนเรียน แม้โรงเรียนล่ามจะมีจุดกำเนิดในโลกตะวันตก แต่ปัจจุบันเอเชียก็มีโรงเรียนล่ามอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี


การเรียนการแปลและล่ามต่างจากการเรียนในสาขาวิชาอื่น ๆ ตรงที่เป็นการเรียนที่เจาะจงคู่ภาษา แม้หลักการและทฤษฎีการแปลและล่ามจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยสากล แต่ในทางปฏิบัติผู้เรียนจะต้องนำหลักการและทฤษฎีนั้นมาใช้เพื่อสื่อสารระหว่างภาษาต้นทางภาษาหนึ่ง และภาษาปลายทางอีกภาษาหนึ่งเสมอ การเรียนเฉพาะหลักการและทฤษฎีโดยไม่ได้มีการแปลจากภาษาต้นทางไปยังภาษาปลายทางจึงขาดความสมบูรณ์ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงเรียนล่ามอยู่มากมายที่เปิดสอนในคู่ภาษาแตกต่างกันไปตามความต้องการของตลาด ภาษาที่แพร่หลายมักเป็นภาษาของประเทศที่มีประชากรมากเช่นภาษาจีน หรือภาษาที่มีคนพูดจำนวนมากในโลกเช่นภาษาสเปน สำหรับภาษาไทยนั้นถือว่าเป็นภาษาหายาก (exotic language) จึงมีการสอนการแปลและล่ามโดยใช้ภาษาไทยน้อยกว่าภาษาอื่น ๆ ที่ใช้เป็นภาษากลาง (lingua franca) มากกว่า


หลักสูตรของโรงเรียนล่ามมักมีความคล้ายคลึงกันตรงที่เริ่มเรียนทฤษฎีการแปล การพูดต่อสาธารณะ และวาทกรรมวิเคราะห์ก่อนแล้วจึงไต่ระดับขึ้นไปเรียนการแปลแบบล่ามชนิดต่าง ๆ คือการแปลแบบล่ามพูดตาม (consecutive interpreting) การแปลแบบล่ามพูดพร้อม (simultaneous interpreting) บางสถาบันอาจจัดระเบียบเนื้อหาวิชาต่างจากนี้เล็กน้อยและใช้คำเรียกที่แตกต่างกันไป เช่นการแปลแบบล่ามติดตามตัว (liaison interpreting) การแปลแบบล่ามการประชุม (conference interpreting) นอกจากนี้ยังมีการสอนวิชาที่ต่อยอดไปจากวิชาเหล่านี้ เช่นการแปลแบบล่ามจากเอกสาร (sight translation) และการแปลแบบล่ามกระซิบ (chuchotage) สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดคือ คิดว่าการเรียนล่ามเป็นการเรียนภาษา แต่ที่จริงแล้วการเรียนล่ามคือการเรียนวิธีการตีความภาษาและถ่ายทอดความหมาย ผู้เรียนต้องมีความสามารถในภาษาต้นทางและภาษาปลายทางมาก่อนที่จะเรียนแล้ว และจะได้รับการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อตีความให้เข้าถึงความหมาย กับการถ่ายทอดความหมายนั้นออกเป็นภาษาปลายทาง


วิชาการแปลแบบล่ามไม่ใช่วิชาที่เราจะสามารถไปเรียนในต่างประเทศได้ง่าย ๆ และบ่อยครั้งการจะไปเรียนการแปลแบบล่ามในต่างประเทศนั้นไม่ใช่ความคิดที่สมเหตุสมผลเท่าไร อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการแปลแบบล่ามนั้นสอนโดยเจาะจงคู่ภาษา หมายความว่าหลักสูตรจะกำหนดไปเลยว่าจะสอนการแปลระหว่างภาษาอะไรกับภาษาอะไร คู่ภาษาที่สอนส่วนมากเป็นคู่ภาษาที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายเช่น ภาษาสเปนที่ไม่ได้ใช้เฉพาะในสเปนแต่ยังมีประเทศมากมายในละตินอเมริกาที่ใช้ภาษานี้ หรือภาษา UN ต่าง ๆ คือภาษาอารบิก จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเชีย และสเปน โดยภาษาไหนมีตลาดใหญ่ก็จะมีการสอนในภาษานั้นมากกว่า หากเราต้องการไปเรียนการแปลแบบล่ามในต่างประเทศเราต้องมีทักษะในคู่ภาษาที่สอนในหลักสูตรนั้นอย่างเพียงพอ การแปลเป็นทักษะที่ต่อยอดไปจากทักษะพื้นฐานเช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน ดังนั้นใครจะไปเรียนการแปลแบบล่ามในคู่ภาษาใดก็ต้องมีทักษะที่ดีในภาษานั้น ๆ ไม่ใช่แค่ฟังออกพูดได้แต่ต้องเข้าใจนัยยะของภาษาและวัฒนธรรมที่ใช้ภาษานั้นด้วย แต่หากเลือกเรียนในคู่ภาษาที่ตนมีความชำนาญอยู่แล้วโดยหนึ่งในนั้นเป็นภาษาแม่ของตน ก็จะมีข้อได้เปรียบเพราะหนึ่งในคู่ภาษาเป็นภาษาที่ตนมีความถนัดอยู่แล้ว


แม้ปัจจุบันจะมีโรงเรียนล่ามอยู่ทั่วโลก ยุโรปยังคงเป็นศูนย์กลางการสอนการแปลแบบล่าม และเนื่องจากยุโรปเป็นทวีปที่มีความหลากหลายทางภาษา ประกอบกับผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ คนยุโปจึงโตขึ้นมาในวัฒนธรรมพหุภาษา (multilingualism) โรงเรียนล่ามในยุโรปและโลกตะวันตกจึงมีการสอนให้แปลจากภาษาที่ 3 ด้วย สมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) จำแนกภาษาของล่ามออกเป็นภาษา A ภาษา B และภาษา C ภาษา A คือภาษาแม่ของล่ามคนนั้น เป็นภาษาแรกที่เรียนรู้และเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ใช้ภาษานั้น มีความเป็นไปได้ที่คนหนึ่งคนจะมีภาษา A สองภาษาหากเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ทั้งสองภาษานั้นอย่างเท่าเทียม ภาษา B คือภาษาที่ 2 ที่ล่ามคนนั้นอาจเรียนเป็นภาษาต่างประเทศในภายหลัง เช่นเรียนในโรงเรียน เป็นภาษาที่ล่ามมีความสามารถสื่อสารได้ดีมากรองจากภาษาแม่ของตน ส่วนภาษา C คือภาษาที่ล่ามเรียนเป็นภาษาต่างประเทศและมีความสามารถสื่อสารได้ดีรองจากภาษา B โรงเรียนล่ามบางแห่งกำหนดให้ผู้เรียนต้องรู้ภาษาต่างประเทศ 2 ภาษา โดยอาจประกอบด้วยภาษา A สองภาษา ภาษา B 1 ภาษา หรือภาษา A 1 ภาษา ภาษา B 2 ภาษา หรือภาษา A 1 ภาษา ภาษา B 1 ภาษา และภาษา C 1 ภาษาก็ได้ หากคนไทยจะไปเรียนการแปลแบบล่ามในสถาบันเหล่านี้ก็จะต้องมีความเชี่ยวชาญในภาษาอย่างน้อย 4 ภาษา คือภาษาไทย (ซึ่งเป็นภาษาแม่ แต่ไม่ใช้ในการเรียน) และภาษาต่างประเทศอีก 3 ภาษาที่จะต้องไปจำแนกเป็นภาษา A, B และ C ตามแต่กรณีต่อไป ซึ่งน่าเสียดายที่จะไม่ได้นำภาษาแม่ไปใช้ในการเรียน เพราะภาษาแม่เป็นภาษาที่เรามีความเชี่ยวชาญที่สุด โรงเรียนล่ามในยุโรปกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าล่ามควรแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาแม่ เพราะเรามีความเชี่ยวชาญในภาษาแม่มากที่สุด เราจึงสามารถสื่อสารเป็นภาษาแม่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้คำแปลของเราสละสลวยเข้าใจง่าย ส่วนโรงเรียนล่ามอีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่าล่ามควรแปลจากภาษาแม่เป็นภาษาต่างประเทศเพราะเราเข้าใจภาษาแม่ได้ดีที่สุดจึงสามารถถ่ายทอดความหมายได้อย่างแม่นยำ คำแปลจะไม่มีความผิดเพี้ยน


ปัจจุบันมีผู้สนใจการแปลแบบล่ามเป็นจำนวนมาก แต่ในพื้นที่สาธารณะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามมากนัก เรื่องโรงเรียนล่ามก็เช่นเดียวกันที่ไม่ค่อยจะมีใครทราบข้อมูลว่าโรงเรียนล่ามก็มีความเฉพาะตัวอย่างที่ได้กล่าวมา หากท่านต้องการเรียนการแปลแบบล่ามเพื่อประกอบอาชีพล่ามที่มีภาษาไทยเป็นหนึ่งในคู่ภาษาของท่าน ท่านควรหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนของสถาบันต่าง ๆ ที่สอนภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งในคู่ภาษาของหลักสูตร และพิจารณาอย่างรอบคอบถึงคุณภาพของหลักสูตรนั้นด้วย


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

699 views0 comments

Comments


bottom of page