จริงหรือไม่ที่เก่งภาษาต่างประเทศหรือเคยอยู่เมืองนอกมาแล้วจะเป็นล่ามได้เลย
หลายคนเข้าใจว่าใครก็ตามที่พูดภาษาต่างประเทศได้จะสามารถเป็นล่ามแปลระหว่างภาษานั้นกับภาษาแม่ได้เลย บางคนคิดว่าการแปลคือการรู้คำศัพท์จำนวนมากแล้วนำคำศัพท์ในภาษาต้นทางมาจับคู่กับคำศัพท์ในภาษาปลายทางเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการแปล แท้จริงแล้วการแปลคือการถ่ายทอดความหมายโดยอาศัยคำ โครงสร้างประโยค และความนิยมในการใช้รูปแบบภาษาปลายทาง มาเป็นเครื่องมือเพื่อถ่ายทอด หากเป็นการแปลแบบล่ามยังต้องอาศัยทักษะการฟังภาษาต้นทางให้เข้าใจ และทักษะการออกเสียงภาษาปลายทางให้สามารถสื่อสารได้ด้วย ขั้นตอนสำคัญในการแปลที่หลายคนมองข้ามไปคือการตีความ ซึ่งหมายถึงการสกัดความหมายนามธรรมออกมาจากพาหะรูปธรรม คือตัวคำและโครงสร้างประโยคที่เราเห็นหรือได้ยินนั่นเอง เสร็จแล้วจึงนำความหมายที่ตีความได้ไปสื่อสารในภาษาปลายทางด้วยการนำคำมาร้อยเรียงกันตามโครงสร้างประโยคและหลักการใช้ภาษาปลายทางที่ผู้แปลเลือกแล้วว่าจะสามารถสื่อสารได้อย่างดีที่สุด การแปลจึงเป็นศาสตร์ที่สามารถศึกษาแยกต่างหากจากการเรียนภาษาได้ สถาบันการศึกษาที่สอนการแปลมักบรรจุวิชาแปลไว้ในชั้นปีสูงๆเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนหลังจากมีความเชี่ยวชาญทางภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศแล้วเท่านั้น วิชาแปลจึงเป็นวิชาที่ต่อยอดมาจากการเรียนภาษา ไม่ใช่ผู้เรียนภาษาทุกคนจะสามารถแปลได้ แต่ผู้แปลทุกคนต้องมีความชำนาญในภาษาต้นทางและปลายทางที่ตนแปล
การแปลแบบล่ามเป็นการแปลที่ต้องอาศัยทักษะการฟังและพูดเพื่อรับสารในภาษาต้นทางและสื่อสารออกไปในภาษาปลายทาง การฟังต้นฉบับและการพูดคำแปลเป็นสิ่งที่ผู้อื่นเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ล่ามทำ แต่ที่เห็นนี้เปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนเพียงน้อยนิดโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ ส่วนที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งหรือส่วนที่เรามองไม่เห็นคือกระบวนการทางความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงของการตีความ ในการแปลแบบล่ามการตีความคือการฟังเสียงที่ผู้พูดพูดแล้วพยายามระบุว่าาเป็นคำอะไร และการคิดว่าคำหลายๆคำที่ฟังมาเมื่อสื่อสารออกมาในรูปประโยคแบบนี้หมายความว่าอะไร นี่คือการนำความรู้ทางภาษามาใช้เพื่อตีความ แต่ความรู้ทางภาษาอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะสิ่งต่างๆที่ผู้พูดพูดออกมานั้นสามารถเชื่อมโยงได้กับสิ่งที่มีหรือไม่มีอยู่จริง ล่ามจึงต้องมีข้อมูลด้านเนื้อหาเพื่อนำไปคิดวิเคราะห์ประกอบกับทักษะภาษาที่ตนมี และพยายามเข้าถึงความหมายที่ผู้พูดต้องการสื่อให้ได้
ด้วยเหตุที่หัวใจสำคัญของการแปลคือการตีความ ซึ่งได้จากการคิดวิเคราะห์โดยใช้ภาษาและข้อมูลด้านเนื้อหาเป็นเครื่องมือ จึงต้องมีการเรียนวิธีการแปลแยกจากการเรียนภาษา ในการแปลแบบล่ามนอกจากจะเรียนทฤษฎีการแปลแล้วยังมีการเรียนวาทกรรมวิเคราะห์ การพูดในที่สาธารณะ กลวิธีการใช้เสียง การแปลแบบพูดตาม การแปลแบบพูดพร้อม การแปลล่ามโดยมีเอกสารประกอบ และหากเป็นการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาจะเรียนระเบียบวิธีวิจัยด้วย
หลายคนอาจมีความคุ้นเคยกับการเห็นคนช่วยแปลให้ชาวต่างชาติในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน เช่นในการซื้อของหรือเดินทาง การแปลในลักษณะนี้เป็นการแปลที่ไม่ต้องเรียนก็แปลได้เพราะไม่มีความซับซ้อนมาก ส่วนเนื้อหาที่ใช้ล่ามแปลในการติดต่อธุรกิจ ฝึกอบรม ประชุมระหว่างประเทศ ฯลฯ มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก จึงต้องมีการเรียนและฝึกทักษะการแปลแบบล่ามโดยเฉพาะ จนเกิดความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งได้อย่างลื่นไหลในเวลาจำกัด ซึ่งผู้ที่เก่งภาษาต่างประเทศอยู่แล้ว หรือเคยอยู่เมืองนอกมานานจะมีภาษีในการเรียนและฝึกทักษะนี้ได้เร็วกว่าผู้อื่น
เกี่ยวกับผู้เขียน
ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม
Comments