top of page
Search
Writer's pictureSasee Chanprapun

อย่านำวิธีการแปลไปใช้กับการล่าม

Updated: Jul 10


ทั้งการแปลและการล่ามมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความหมายจากภาษาต้นทางเป็นภาษาปลายทาง และในประเทศไทยมักสอนการแปลและะการล่ามเป็นส่วนขยายของการเรียนภาษาต่างประเทศ กล่าวคือเมื่อผู้เรียนได้เรียนภาษาต่างประเทศภาษาใดภาษาหนึ่งจนมีความเชี่ยวชาญในการฟัง พูด อ่าน เขียนแล้ว ขั้นตอนต่อไปมักเรียนการแปลระหว่างภาษาต่างประเทศนั้นกับภาษาแม่ของตน


แต่จารีตการเรียนภาษาต่างประเทศในเมืองไทยคือการเริ่มต้นที่คำศัพท์ โดยสอนความหมายของคำที่อาจไม่อิงบริบทหากเน้นการจับคู่กับคำที่มีความหมายเหมือนหรือใกล้เคียงกันในอีกภาษาหนึ่ง จึงทำให้การเรียนการสอนนั้นมุ่งความสนใจไปที่คำและความหมายของคำ แม้เมื่อผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศนั้นแล้ว และเริ่มเรียนการแปลก็ยังมีความเคยชินในการให้ความสำคัญกับความหมายระดับคำ และเริ่มตีความจากระดับย่อยที่สุด คือตีความว่าคำแต่ละคำหมายความว่าอะไร แล้วจึงไล่ขึ้นไปตีความในระดับวลี ระดับประโยค และระดับวาทกรรมต่อไป



วิธีการนี้เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีหากไม่มีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลและเวลา หากนักแปลพบว่าตนมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเข้าใจต้นฉบับได้ นักแปลสามารถพักการเขียนคำแปลไว้ก่อนเพื่อไปหาข้อมูลมาใช้ในการตีความ การแปลจึงมักเป็นการอ่านต้นฉบับ นำมาคิดวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลเดิมที่นักแปลมีอยู่แล้ว ออกไปหาข้อมูลใหม่เพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลหาความหมาย แล้วจึงกลับมาเขียนคำแปล ต่อเนื่องกันเป็นวงจรเช่นนี้ แม้เมื่อเขียนคำแปลเสร็จแล้วยังมีโอกาสทบทวนและแก้ไขได้อีกหลายครั้งหากเวลาอำนวย แต่ล่ามมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลมากกว่านักแปล เนื่องจากล่ามไม่สามารถหยุดการล่ามเพื่อไปหาข้อมูลก่อนแล้วจึงมาล่ามต่อไปได้ ข้อมูลที่ล่ามใช้จึงจำกัดอยู่เพียงข้อมูลที่ได้เตรียมมาล่วงหน้าแล้วเท่านั้น อาจมีบางกรณีในการแปลล่ามพูดพร้อมที่คู่ล่ามอาจช่วยบอกข้อมูลให้ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ก็คือข้อมูลที่ล่ามเตรียมมาก่อนหน้าอยู่ดี การเตรียมตัวจึงมีความสำคัญมากสำหรับล่าม


ข้อจำกัดอีกประการของการล่ามคือเรื่องของเวลา ซึ่งโยงกับเรื่องความสามารถในการไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมด้วย ทุกท่านทราบดีว่าล่ามมีเวลาน้อยกว่านักแปลมาก โดยต้องพูดคำแปลในเวลาไม่นานหลังฟังต้นฉบับ ไม่ว่าจะในการล่ามแบบพูดตามหรือพูดพร้อม นักแปลมีโอกาสและเวลาที่จะอ่านต้นฉบับซ้ำได้หลายรอบแต่ล่ามจะได้ฟังต้นฉบับเพียงครั้งเดียว บริบทหรือข้อความข้างเคียงจึงมีบทบาทสำคัญมากในการตีความของล่าม


ผู้เรียนล่ามมักเป็นผู้เรียนแปลมาก่อนจึงนำความเคยชินในการแปลมาใช้กับการล่าม ผู้เรียนในระดับเริ่มต้นมักตั้งใจฟังคำแต่ละคำจากต้นฉบับเพื่อคิดหาความหมายของคำเหล่านั้นแล้วจึงนำมาโยงกันเป็นความหมายของวลี ความหมายของประโยคต่อไป จนท้ายที่สุดจึงเข้าใจความหมายที่ผู้พูดต้องการสื่อออกมาได้ การใช้แนวคิดจากล่างขึ้นบนแบบนี้มักไม่ประสบความสำเร็จในการแปลล่ามเพราะผู้แปลจะชะงักเมื่อขาดข้อมูล เช่นไม่เข้าใจความหมายของคำ (การชะงักไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดเพราะข้อมูลที่เตรียมมาก็จะมีอยู่เท่าเดิมแค่นั้น) แต่เวลาก็เดินต่อไปเรื่อย ๆ ต้นฉบับก็ไม่ได้หยุดพูด ทำให้มีข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมากองที่คอขวดรอการตีความและแปลออกไปเพิ่มขึ้นทุกที ผลที่เกิดคือผู้แปลมักสามารถแปลความหมายได้เป็นคำ ๆ ที่แยกจากกัน (หรืออาจเป็นวลี ๆ ประโยค ๆ) แต่ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ว่าผู้พูดต้องการสื่ออะไร


เราลองมาสลับวิธีคิดและใช้มุมมองว่าสิ่งที่ผู้ใช้บริการล่ามต้องการมากที่สุดคือต้องการรู้เรื่องว่าผู้พูดกำลังพูดอะไร ประเด็นหลักที่เขาต้องการสื่อสารคืออะไร ส่วนความหมายของประโยค วลี และคำต่าง ๆ นั้นแม้จะเป็นข้อมูลสำคัญแต่ก็มีความสำคัญน้อยกว่าความหมายหลักที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร เมื่อสลับวิธีคิดจากที่เราเคยชิน (คือการวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน) จากความหมายของคำซึ่งเป็นข้อมูลละเอียดสู่ความหมายหลักซึ่งเป็นเนื้อความสำคัญที่ผู้พูดต้องการสื่อ สลับมาเป็นการมองแบบบนลงล่าง คือวิเคราะห์ว่าความหมายสำคัญที่ผู้พูดต้องการสื่อคืออะไรและจึงนำรายละเอียดมาเพิ่มใส่เข้าไปในเนื้อความนั้น เราจะประสบความสำเร็จในการแปลยิ่งขึ้น ติดขัดน้อยลง และสามารถรวมความได้มากขึ้น


การนำวิธีการแปลมาใช้กับการล่ามจึงเป็นข้อผิดพลาดที่หลายคนมองไม่เห็นและไม่สามารถก้าวข้ามได้ ส่วนมากมักติดอยู่แค่ระดับคำ บางรายอาจล้มเลิกความพยายามไปเลยแล้วคิดว่าตนทำไม่ได้ ทั้งที่แท้จริงแล้วปัญหาเกิดจากวิธีการที่นำมาใช้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าล่ามควรแปลเฉพาะความรวมเท่านั้น ล่ามที่มีคุณภาพต้องแปลให้ครบทุกความที่ผู้พูดสื่อสารออกมา และล่ามที่ดีต้องสามารถบริหารจัดการภาระทางปัญญาของตนเพื่อให้การแปลดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน


 


เกี่ยวกับผู้เขียน


ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) และเป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามการประชุมได้อีกช่องทางที่ https://www.youtube.com/channel/UCyQGlZJdFncGnnJw0fsLhFQ

https://thammasatpress.tu.ac.th/wp_tupress/product/66019/

385 views0 comments

Comments


bottom of page