top of page
Search

วงจรการใช้ข้อมูลในการแปลแบบล่ามพูดพร้อม

Writer: Sasee  Chanprapun Sasee Chanprapun

ความจริงแล้วกระบวนการแปลแบบล่ามพูดพร้อมเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการแปลจริง เนื่องจากการแปลคือการถ่ายทอดความหมาย และการจะถ่ายทอดความหมายได้นั้นต้องอาศัยการตีความให้เกิดความเข้าใจขึ้นเสียก่อน กระบวนการแปลจึงเริ่มต้นที่ล่ามเก็บสะสมข้อมูลล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ต้นฉบับที่จะได้รับฟังจากผู้พูด โดยข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นข้อมูลด้านภาษา เช่นคำศัพท์ หรือข้อมูลด้านเนื้อหา เช่นความรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาที่จะแปล แม้การแปลแบบเขียนและการแปลแบบล่ามจะใช้หลักการเดียวกันคือการถ่ายทอดความหมาย แต่การแปลทั้งสองแบบมีกระบวนการที่ไม่เหมือนกันที่ในการแปลแบบล่ามผู้แปลจะต้องเตรียมการล่วงหน้าให้พร้อมเพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่เตรียมไว้มาใช้งานได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่ในการแปลแบบเขียนผู้แปลสามารถหยุดการแปลไว้กลางคันเพื่อไปหาข้อมูลเพิ่มในการวิเคราะห์ต้นฉบับได้ อาจกล่าวได้ว่าในการแปลแบบล่ามผู้แปลจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลไว้สำหรับใช้ในอนาคต และผู้แปลไม่สามารถหยุดแปลกลางคันเพื่อหาข้อมูลได้ การแปลแบบล่ามจึงเป็นการแปลที่ต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณของผู้แปลในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย โดยเราอาจจำลองการใช้ข้อมูลในกระบวนการแปลแบบล่ามพูดตามและกระบวนการแปลแบบล่ามพูดพร้อมได้ดังแผนภูมิต่อไปนี้



ข้อมูลเดิม (ผ่านการวิเคราะแล้ว)

+

ข้อมูลใหม่ (ข้อมูลดิบ)

+

ตรรกะ

=

ความเข้าใจ (ข้อมูลเดิมที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว)


ในแผนภูมินี้เราจะเห็นว่าล่ามมีต้นทุนเป็นความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับเรื่องที่แปลอยู่แล้ว และในขณะแปลล่ามได้รับฟังข้อมูลใหม่จากผู้พูด ล่ามจึงใช้ตรรกะของตนวิเคาะห์ข้อมูลทั้งสองส่วนจนเกิดความเข้าใจแล้วถ่ายทอดความหมายตามที่ตนเข้าใจออกไปเป็นภาษาปลายทาง ด้วยเหตุนี้การมีข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับล่ามเพราะข้อมูลเป็นพื้นฐานสำหรับการแปล ข้อมูลดิบคือข้อมูลที่นำเข้าจากภายนอกโดยยังมิได้ผ่านการวิเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจ ในการเตรียมตัวเพื่อแปลล่ามอาจเริ่มต้นโดยค้นหาข้อมูลดิบเกี่ยวกับหัวข้อที่จะแปล โดยข้อมูลนี้อาจเป็นคำศัพท์ (ซึ่งจะขอเรียกว่าข้อมูลด้านภาษา) หรือกระบวนการทำงานของบางสิ่ง (ซึ่งจะขอเรียกว่าข้อมูลด้านเนื้อหา) ข้อมูลดิบที่ว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังมิได้ตีความให้เกิดความเข้าใจ ล่ามจะใช้ตรรกะของตนวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่ (ข้อมูลดิบ) ที่เพิ่งรับมาเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ที่ข้อมูลนั้นมีต่อข้อมูลเดิม (ข้อมูลที่วิเคราะห์จนเข้าใจแล้ว) ของตนจนเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นในเรื่องนั้น เมื่อเกิดความเข้าใจเราอาจกล่าวได้ว่าข้อมูลที่เคยเป็นข้อมูลดิบ (เนื่องจากยังไม่ได้วิเคราะห์หาความเชื่อมโยงจนเกิดความหมาย) บัดนี้ได้กลายมาเป็นข้อมูลเดิม (ที่เข้าใจความหมายแล้ว) ที่ล่ามจะเก็บไว้ในคลังข้อมูลของตนเพื่อนำไปใช้เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ (ข้อมูลดิบ) ต่อไปเรื่อย ๆ ข้อมูลจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมตัว ส่วนทักษะการคิดวิเคราะห์นั้นเป็นเครื่องมือที่ล่ามต้องฝึกฝนให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ



การเตรียมตัวที่ดี หรือการเตรียมข้อมูลมาให้พร้อม จะเอื้อให้การแปลประสบความสำเร็จเพราะจะทำให้ผู้แปลมีพื้นฐานที่มั่นคง (ข้อมูลและความเข้าใจ) ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ที่ได้รับฟังมาในช่วงที่แปล การแปลเป็นการถ่ายทอดความหมาย ซึ่งจะถ่ายทอดได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเข้าใจในความหมายนั้นเสียก่อน การรู้คำศัพท์ในภาษาต้นทางและปลายทางอย่างเดียวจึงไม่สามารถทำให้แปลได้ดี หากล่ามต้องมีความเข้าใจพื้นฐาน (หรือข้อมูล) เกี่ยวกับเรื่องที่แปลด้วย เราอาจเปรียบเทียบการหาข้อมูลและทำความเข้าใจข้อมูลนั้นเพื่อเตรียมตัวแปลว่าเป็นการเตรียมวัตถุดิบ และอาจเปรียบเทียบการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่ได้เตรียมมาจนเกิดความเข้าใจและถ่ายทอดออกเป็นภาษาปลายทางว่าเป็นการนำวัตถุดิบที่เตรียมไว้มาประกอบกับวัตถุดิบใหม่ที่เพิ่งได้รับมาจนเกิดผลิตภัณฑ์ (คำแปล) ขึ้น



การแบ่งส่วนข้อมูลเพื่อวิเคราะห์

การแปลแบบล่ามพูดพร้อมเป็นการแปลที่เกิดขึ้นในขณะที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ คือผู้พูดยังพูดข้อความนั้นไม่จบ ข้อจำกัดนี้ทำให้ล่ามต้องแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนย่อยและแปลส่วนย่อยแต่ละส่วนไปก่อนในระหว่างที่รอฟังข้อมูลส่วนย่อยส่วนอื่น ๆ ที่จะตามมา โดยเมื่อนำส่วนย่อยทุกส่วนมาประกอบกันแล้วจะได้เนื้อความที่สมบูรณ์ในภาษาปลายทาง การแปลแบบล่ามมิใช่การแปลคำทีละคำไปเรื่อย ๆ ตามลำดับที่ได้ยิน เราไม่สามารถแปลในลักษณะเช่นนี้ได้เพราะคำมีความหมายที่อิงกับบริบทเสมอ ซึ่งหมายความว่าเราจะทราบความหมายของคำก็ต่อเมื่อเราได้พิจารณาคำอื่น ๆ ที่แวดล้อมคำนั้น หรือต่อเมื่อเราได้พิจารณาคำที่บรรจุอยู่ในบริบทเท่านั้น เมื่อบริบทเปลี่ยนไปความหมายของคำก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดล่ามพูดพร้อมจึงมักไม่แปลในลักษณะคำต่อคำแต่จะแปลหมายไปทีละความ ตามลำดับ (ความ) ที่ผู้พูดนำเสนอ



ก่อนที่จะแปลได้ทีละความ หรือทีละส่วนความหมาย เรามีความจำเป็นต้องทราบก่อนว่าความส่วนที่เราจะแปลนั้นสิ้นสุดลงที่ใด เมื่อทราบแล้วจึงพิจารณาคำที่ปรากฏในบริบทของความส่วนนั้นโดยใช้ตรรกะวิเคราะห์เพื่อเข้าถึงความหมาย มีผู้เปรียบการแบ่งเนื้อความที่จะแปลออกเป็นส่วน ๆ (chunking) ว่าเหมือนการหั่นซาลามี (The Salami Technique) โดยเปรียบเทียบเนื้อความทั้งหมดที่ผู้พูดสื่อสารออกมาเป็นซาลามีชิ้นโต แต่เนื่องจากมันมีชิ้นโตเกินไปเราจึงไม่สามารถรับประทานได้อย่างสะดวก จึงต้องมีการหั่นออกเป็นชิ้นย่อยชิ้นเล็ก ๆ ก่อนเพื่อให้สามารถจัดการกับเนื้อซาลามีแต่ละชิ้นได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับวิเคราะห์ประโยคที่มีโครงสร้างซ้อนกันอยู่หลายชั้น ซึ่งหากไม่แยกส่วนจะทำให้เกิดความสับสนในการตีความ (Jones, 1998) การแบ่งข้อความที่จะแปลแบบล่ามพูดพร้อมออกเป็นส่วนย่อยเพื่อสะดวกในการแปลก็ใช้หลักการเดียวกันกับการหั่นซาลามีออกเป็นชิ้นย่อย แต่ปัญหาคือล่ามจะไม่ได้เห็นซาลามีทั้งชิ้นก่อนหั่น ล่ามจะไม่ทราบว่าซาลามีทั้งชิ้นมีขนาดใหญ่เท่าไร (เนื้อความที่ผู้พูดนำเสนอจะมีความยาวเพียงไร) ล่ามจึงต้องฟังไปหั่นไปตามลำดับการนำเสนอข้อความของผู้พูด สิ่งที่จะบอกว่าถึงเวลาหั่นซาลามีอีกชิ้นหนึ่งแล้วคือเมื่อฟังมาจนเห็นว่าความครบจนสามารถเข้าใจความหมายได้แล้วก็ให้หั่นเนื้อความ (ซาลามี) ชิ้นนั้นออกมาแล้วพิจารณาบริบทเพื่อประกอบการแปล


ในบริบทของการแบ่งข้อความเป็นส่วนย่อยเพื่อแปลทีละส่วน จะเห็นได้ว่าล่ามฟังไป หั่น (แบ่งข้อความ) ไป พร้อมกับนำข้อความส่วนที่หั่นออกมานั้นไปวิเคราะห์หาความหมาย และพูดคำแปลไปอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง การหั่นซาลามีข้อความเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเพราะการหั่นถูกที่จะทำให้ได้ข้อความที่ลงตัวและเอื้อต่อการแปลได้ชัดเจน แต่หากแบ่งข้อความผิดจังหวะจะทำให้ได้ชิ้นข้อความที่ขาดความสมบูรณ์




รายการอ้างอิง




Jones, R. (1998). Conference Interpreting Explained, Manchester: St. Jerome Publishing.



 

เกี่ยวกับผู้เขียน


ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) และเป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามการประชุมได้อีกช่องทางที่ https://www.youtube.com/channel/UCyQGlZJdFncGnnJw0fsLhFQ

 
 
 

Comments


If you're planning a conference, a meeting or any event with interpreting, please get in touch.  We have the expertise and experience to help you get your message across.  We can even help with the translation of your conference material and find the right SI equipment provider for you.  Just fill in the form below and we'll get back to you.

Sasee Chanprapun

Conference Interpreter

Member of AIIC

A: Thai     B: English

Telephone: +66899252957

Email: schanprapun@yahoo.com

Thanks for submitting!

  • Black LinkedIn Icon
  • Black Facebook Icon
  • Black Twitter Icon
  • Black Instagram Icon

© 2023 By Rachel Smith. Proudly created with Wix.com

bottom of page