top of page
Search
Writer's pictureSasee Chanprapun

จริยธรรมบางประการสำหรับล่าม Some Ethical Concerns for Interpreters

Updated: Nov 14, 2020


งานล่ามเป็นงานที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลความลับของลูกค้า มีทั้งข้อมูลที่เป็นความลับในระดับที่ลูกค้าต้องขอให้ล่ามลงนามในข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล ไปจนถึงข้อมูลในระดับที่มีความลับมากขนาดต้องเชิญให้ล่ามออกจากห้องไปก่อนที่จะนำข้อมูลนั้นมาหารือกัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลภายในซึ่งไม่ได้เป็นความลับอะไรแต่เป็นเรื่องภายในองค์กรที่ไม่ควรนำมาบอกต่อ อาชีพล่ามเป็นอาชีพซึ่งเปิดโอกาสให้ได้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้อื่นไม่ได้มีโอกาสได้ไปหรือได้พบปะกับบุคคลที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้พบ นอกจากการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อได้เข้าไปในสถานที่เหล่านั้นล่ามควรระมัดระวังเรื่องการเผยแพร่ภาพถ่ายกับบุคคลสำคัญในสถานการณ์ที่เป็นงานภายในด้วย ยิ่งถ้าเป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ หน่วยข่าวกรองของประเทศนั้นๆอาจคอยจับตาดูโซเชียลมีเดียเป็นพิเศษ การโพสต์รูปถ่ายของตัวเองกับบุคคลสำคัญที่ถ่ายในสถานการณ์ภายในจึงเป็นเรื่องควรหลีกเลี่ยง เราอาจคิดว่ารูปที่ถ่ายกับบุคคลสำคัญจะช่วยส่งเสริมอาชีพของเราหรือเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเราได้เคยทำงานในระดับสูงมาแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว จะมองให้ดีก็ได้หรือจะมองให้ร้ายก็ได้เช่นกัน ผู้เป็นล่ามจึงควรใช้วิจารณญาณให้ดีในการนำภาพเหล่านั้นไปเผยแพร่


นอกจากเรื่องภาพแล้วการรักษาความลับของข้อมูลและเอกสารก็เป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งเราได้เข้าไปอยู่วงในของปฏิบัติการและข้อมูลที่ได้รู้เห็นเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเรา หรือเราอาจไปได้เอกสารอะไรมาที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเราจึงอยากนำมาเล่าต่อด้วยการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวผู้โพสต์และต่อวิชาชีพได้ เท่าที่ทราบมีหลายกรณีเกี่ยวกับล่ามและโซเชียลมีเดียที่เกิดความเสียหายและได้มีการเอาผิดกับล่ามซึ่งไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้ในที่นี้




ความเป็นกลางและการแปลอย่างเที่ยงตรงเป็นจริยธรรมที่สำคัญอีกข้อ เป็นกลางและเที่ยงตรงหมายความว่าต้องแปลให้ตรงตามความหมายในต้นฉบับไม่ขาดไม่เกินและไม่ใส่ความเห็นของตัวเองเข้าไป บางครั้งล่ามอาจอยู่ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งกัน ในสถานการณ์นั้นหน้าที่ของล่ามคือการแปลให้ฝ่ายหนึ่งเข้าใจคำพูดของอีกฝ่ายหนึ่ง ล่ามไม่มีหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้ประนอมความขัดแย้ง หากล่ามแปลข้อความโดยบิดเบือนความหมายด้วยเจตนาจะให้สองฝ่ายปรองดองกันล่ามคนนั้นจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรงต่อวิชาชีพ ในสถานการณ์ดังกล่าวล่ามต้องรับผิดชอบต่อคำแปลของตัวเองเช่นเดียวกับที่ผู้พูดต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตน (ทั้งที่บางรายอาจพูดออกมาแล้วกลับบอกว่าตัวเองไม่ได้พูด ล่ามจะแก้ปัญหาอย่างไรในกรณีนี้วันหลังจะเล่าให้ฟัง)


นอกจากซื่อตรงต่อตนเองและวิชาชีพแล้วล่ามควรซื่อตรงต่อลูกค้าคือคนที่จ้างเรามาทำงานกับคนที่ฟังคำแปลของเราด้วย การซื่อตรงต่อลูกค้าโดยรวมแล้วหมายถึงการให้บริการตามที่ตกลงกันไว้ ในปริมาณและคุณภาพที่ตกลงกันไว้ เรื่องปริมาณเป็นสิ่งที่ชี้วัดได้ง่ายกว่าเช่นทำงานกี่ชั่วโมง พอเลยไปแล้วคิดค่าล่วงเวลาชั่วโมงละเท่าไร ตกลงกันไว้ว่าจะมีล่ามวิชาชีพมาทำงานจำนวนกี่คนก็นำล่ามวิชาชีพจำนวนเท่านั้นคนมาทำงาน ไม่พาคนที่ไม่ใช่ล่ามวิชาชีพมาสวมรอยทำทีเป็นล่าม ฯลฯ ส่วนเรื่องคุณภาพอาจเป็นเรื่องที่วัดยากหน่อย แต่หลักการง่ายๆคือให้บริการตามคุณภาพที่ลูกค้าคาดหมาย ไม่รับงานที่ตนไม่มีความถนัด และไม่ทำงานร่วมกับคู่ล่ามที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความถนัดในสาขานั้นเพราะจะทำให้ลูกค้าประเมินคุณภาพของเราต่ำกว่าที่เป็นจริงไปด้วย


การคิดราคาต่ำกว่าคนอื่นเพื่อให้ได้งานเป็นปัญหาที่เกิดทุกวงการ การแข่งกันตัดราคาเป็นสิ่งดีสำหรับลูกค้าแต่เป็นเรื่องที่จะทำลายวิชาชีพล่ามในระยะยาว เมื่อมีการตัดราคากันจนถึงที่สุดแล้วล่ามที่มีคุณภาพจะเริ่มออกจากวิชาชีพนี้ไปทำอย่างอื่น คงเหลือไว้เพียงล่ามที่แย่งกันรับงานไร้คุณค่าด้วยราคาถูก ล่ามที่ทำงานมาสักระยะซึ่งเมื่อตอนเริ่มทำงานใหม่ๆได้เคยตัดราคาล่ามรุ่นก่อนไว้บัดนี้ก็จะถูกรุ่นน้องตัดราคาอีกทอดหนึ่ง และราคากลางสำหรับล่ามจะลดลงเรื่อยๆจนงานล่ามกลายเป็นงานที่ไม่คุ้มค่าที่จะทำอีกต่อไป ในที่สุดคุณภาพของงานล่ามก็จะตกตำ่ถึงที่สุด อาจถึงขนาดที่ไม่สามารถหาล่ามที่ดีมาทำงานได้เลยจนผู้ใช้บริการหันไปใช้วิธีแปลแบบอื่นเช่นใช้ปัญญาประดิษฐ์แทน


ในประเทศที่มีการใช้ล่ามมาเป็นเวลานานและตลาดล่ามมีความมั่นคงเข้าที่แล้วมีการแก้ปัญหาจริยธรรมของล่ามด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและคอยสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าคนเราไม่ชอบที่จะมีคนอื่นมาคอยดูพฤติกรรมของตน แต่การรวมตัวกันเช่นนี้ช่วยให้มีการสื่อสารกันมากขึ้น เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้สามารถช่วยเหลือกันได้มากขึ้นทั้งในเรื่องการพัฒนาทักษะวิชาชีพและการให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นรูปแบบการอยู่ร่วมวิชาชีพเดียวกันที่ล่ามในประเทศไทยควรนำไปพิจารณา



 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ร.ศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) เป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม

310 views0 comments

Comments


bottom of page