การแปลแบบล่ามชุมชน (Community Interpreting) และการแปลแบบล่ามติดตามตัว (Liaison Interpreting)
การแปลแบบล่ามชุมชนคือการแปลสองทางจากภาษาที่หนึ่งไปยังภาษาที่สองและจากภาษาที่สองกลับมายังภาษาที่หนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารเมื่อผู้ที่ไม่รู้ภาษาต้องการติดต่อหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะ (Healthcare Interpretation Network, 2007) หรือสื่อสารกับคนในพื้นที่ เช่นเมื่อชาวต่างชาติต้องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ เมื่อต้องการใช้บริการสาธารณสุข หรือเมื่อต้องการใช้บริการสาธารณะต่าง ๆ การแปลแบบนี้เป็นที่รู้จักในนาม Community Interpreting หรือบางสถาบันอาจเรียกว่า Public Service Interpreting ส่วนคำว่าการแปลแบบล่ามติดตามตัว (liaison interpreting หรือ escort interpreting) นั้นเป็นคำที่ใช้เพื่อสื่อลักษณะของการทำงานที่ล่ามติดตามผู้ใช้บริการไปเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร บางคนอาจเรียกการแปลแบบนี้ว่า bilateral interpreting เพราะเป็นการแปลเพื่อให้สองฝ่ายสามารถโต้ตอบกันได้โดยเป็นการแปลที่ล่ามใช้สองภาษาเพื่อแปลให้เกิดความเข้าใจระหว่างคนสองคนขึ้นไปเช่นกัน (Phelan, 2001) บ้างก็เรียกการแปลลักษณะนี้ว่า dialogue interpreting ที่ครอบคลุมทั้งการแปลแบบล่ามชุมชน (community interpreting) ล่ามบริการสาธารณะ (public service interpreting) ล่ามเฉพาะกิจ (ล่ามจำเป็น - ad hoc interpreting) ล่ามระหว่างสองฝ่าย (bilateral interpreting) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่เป็นการสื่อสารโต้ตอบกันแบบตัวต่อตัวโดยผ่านล่าม เราอาจพบการแปลล่ามในลักษณะนี้ได้ในการทำงานของตำรวจ การตรวจคนเข้าเมือง การให้บริการด้านสวัสดิการ การพูดคุยระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย การเจรจาทางธุรกิจ การสื่อสารระหว่างทนายกับลูกความ การให้การในศาล ฯลฯ (Mason, 2014)
ล่ามอาจให้บริการเฉพาะภายในหน่วยงานของตนโดยไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก เราอาจเคยได้ยินว่ามีการทำงานเป็นล่ามในกรณีดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการแยกย่อยการทำงานยิ่งขึ้นไปตามสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เป็นการแปลที่มักใช้ล่ามหนึ่งคนแปลกลับไป-มาสองทางระหว่างผู้สื่อสารอย่างน้อยสองคนที่ไม่อาจเข้าใจภาษาของอีกฝ่ายได้ หรือเข้าใจแต่ไม่มากพอที่จะสื่อสารได้ เช่น ล่ามในหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ที่แปลให้ผู้มารับบริการกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ล่ามกองถ่ายภาพยนตร์ที่แปลให้เจ้าหน้าที่กองถ่ายซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ล่ามโรงงานที่แปลให้ผู้บริหารหรือวิศวกรผู้ควบคุมโรงงาน หรือล่ามทหารซึ่งแปลให้กับเจ้าหน้าที่ทหารในหลายบริบทตั้งแต่การซ้อมรบ การฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้ยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงการเยี่ยมคารวะ
คำที่ใช้เรียกล่ามนั้นมีหลากหลายและมีความทับซ้อนกันอยู่ในที แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ล่ามคือผู้เชื่อมต่อระหว่างสองภาษาซึ่งผู้สื่อสารไม่สามารถเข้าใจภาษาของอีกฝ่ายได้ โดยอาจมีการจำแนกล่ามได้ตามวิธีการในการแปล เนื้อหาที่แปล และสถานที่ซึ่งทำการแปล
References
Healthcare Interpretation Network. (2007). National Standard Guide for Community
Interpreting Services. Canadia Language Industry Association.
Mason, I. (Ed.). (2014). The Translator: Dialogue Interpreting (Vol. 5). Routledge.
Phelan, M. (2001). The Interpreter’s resource. http://ci.nii.ac.jp/ncid/BA53423108
เกี่ยวกับผู้เขียน
รศ. ศศี จันทร์ประพันธ์ schanprapun@yahoo.com เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นล่ามการประชุมอิสระ สมาชิกสมาคมล่ามการประชุมระหว่างประเทศ (AIIC) และเป็นอาจารย์สอนโครงการปริญญาโทการแปลล่ามที่ศูนย์การแปลและล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจเรื่องการแปลและการแปลแบบล่าม ต้องการยกระดับวงการล่ามไทยให้มีมาตรฐานที่ดี และส่งเสริมศักดิ์ศรีในอาชีพล่าม ติดตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการแปลแบบล่ามการประชุมได้อีกช่องทางที่ https://www.youtube.com/channel/UCyQGlZJdFncGnnJw0fsLhFQ
ซื้อหนังสือการแปลแบบล่ามในการประชุมระหว่างประเทศได้ที่ https://thammasatpress.tu.ac.th/wp_tupress/product/66019/
Comentarios